คุณภาพชีวิต
Scoop : กันไว้ดีกว่าแก้ แนะนำวิธีเตรียมรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินเบื้องต้น เพื่อปกป้องชีวิต-ทรัพย์สิน


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้เราต่างได้ตระหนักได้ว่าอันตรายและความไม่แน่นอนนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ฉะนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือล่วงหน้ากับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและปกป้องทรัพย์สินของเราให้ได้มากที่สุด ในบทความนี้ “AC News” จึงขอแนะนำแนวทางการเตรียมพร้อมชุดอุปกรณ์ยังชีพ หรือ Emergency Kit ที่หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินต่าง ๆ ขึ้นมา เราจะได้สามารถคว้าสิ่งนี้ติดตัวเราได้อย่างทันท่วงที
 
1. จัดเตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ข้อมูลการแพทย์ของตัวเอง (อาทิกลุ่มเลือด และโรคประจำตัว) รวมถึงเอกสารสำคัญอื่น ๆ โดยควรจัดใส่ไว้ในซองกันน้ำเพื่อป้องกันความเสียหายจากความชื้น
 
2. แสงสว่าง ควรเตรียมทั้งไฟฉาย ถ่านสำรองหรือแบตเตอรี่สำรอง รวมถึงเชื้อเพลิงอย่างไม้ขีดไฟและไฟแช็ก เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น ความจำเป็นต้องมีการก่อไฟ หรือให้ความสว่างในช่วงกลางคืนและอื่น ๆ
 
3. อุปกรณ์สื่อสาร ทั้งโทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ Powerbank ที่ถูกชาร์จจนเต็ม ไปจนถึงนกหวีดสำหรับส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ และวิทยุ
 
4. อาหารและน้ำ น้ำคือสิ่งที่จำเป็นสูงสุดสำหรับการดำรงชีวิตในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะอยู่ด้านนอก หรือต้องติดอยู่ในอาคาร ก็ควรจะเตรียมน้ำดื่มสะอาดติดตัวติดบ้านเอาไว้ ซึ่งในบ้านควรเตรียมน้ำสะอาดไว้อย่างน้อย 3-5 ลิตรต่อคนในระยะเวลาประมาณ 3 วัน แต่ถ้าเตรียมเอาไว้ใน Emergency Kit ก็ควรเตรียมไว้อย่างน้อย 1 ขวด และเลือกซื้อเครื่องกรอกน้ำแบบพกพาแทนเพื่อลดน้ำหนักของปริมาณน้ำที่ต้องแบกในกระเป๋า ส่วนอาหาร ควรพกอาหารที่ให้พลังงานสูง พกพาสะดวก และเก็บได้นาน เช่น Energy Bar Protein Bar ถั่ว ขนมปังกรอบ หรืออาหารกระป๋อง
 
5. ยาและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ได้แก่ ยาสามัญ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และยารักษาโรคประจำตัวของตัวเอง หน้ากากกันฝุ่น รวมถึงพลาสเตอร์ ผ้าพันแผล ถุงมือแพทย์ และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เผื่อเกิดเหตุที่ได้รับบาดแผลฉุกเฉิน
 
6. เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เช่น ชุดชั้นใน ผ้าอนามัย ชุดลำลองอย่างน้อย 1 ชุด เพื่อเอาไว้เปลี่ยน ผ้าเช็ดตัวพกพาแบบแห้งไว รวมถึง ถุงเท้า และผ้าห่มฉุกเฉิน เพื่อป้องกันสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน
 
7. อุปกรณ์ป้องกันตัวและช่วยชีวิตอื่นๆ เช่น มีดพับอเนกประสงค์ ถุงหรือเป้กันน้ำ
 
8. เงินสด เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินเราอาจไม่สามารถทำธุรกรรมทางออนไลน์ หรือบัตรเครดิตได้ ฉะนั้นเงินสดอาจเป็นสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าได้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า
 
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างรับมือกับภัยพิบัติ ควรตั้งสติให้มั่น หลีกเลี่ยงบริเวณที่เสี่ยงอันตรายตามแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่ใกล้กับอาคารสูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หรือไม่ว่าจะมีภัยพิบัติใดเกิดขึ้นก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าหากพื้นที่โดยรอบมีความเสียหาย และใช้โทรศัพท์มือถือเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเพื่อลดภาระของเครือข่าย ทั้งหมดนี้คือการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับเราได้อย่างมาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 มี.ค. 2568 เวลา : 19:02:36
02-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 2, 2025, 6:53 am