สหรัฐฯ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวแรงกว่าคาด หลังทรัมป์ยกระดับสงครามการค้าผ่านการปรับขึ้นภาษีรถยนต์ 25% ในเดือนมีนาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นพลิกกลับมาหดตัวที่ 49.8 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงสู่ระดับ 57 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565
การยกระดับความรุนแรงของสงครามการค้าเพิ่มความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจสูงกว่าคาดผ่านต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นและการจ้างงานที่ลดลง สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 3% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) รวมถึงเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 เมษายนนี้ โดยภาพดังกล่าวอาจนำไปสู่การใช้มาตรการตอบโต้ของกลุ่มประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าในระยะถัดไป จากเหตุผลข้างต้น วิจัยกรุงศรีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในช่วงสิ้นปี นับตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้
ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากเงินเฟ้อที่ยังสูง รวมถึงสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในเดือนมีนาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นหดตัวลงสู่ระดับ 48.3 ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นพลิกกลับมาหดตัวที่ 49.5 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในกรุงโตเกียว (Tokyo CPI) เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.8% สู่ระดับ 2.9% YoY ในเดือนมีนาคม เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในกรุงโตเกียว (Tokyo core CPI) เพิ่มขึ้นจาก 2.2% สู่ระดับ 2.4%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงรวมถึงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยมาตรการดังกล่าวคาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 28.3% ของการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐในปี 2567 โดยญี่ปุ่นเผยว่าเตรียมพิจารณาเจรจารับมือและยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อาจจะใช้มาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงสูงแต่การฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโดยรวมคาดส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
จีน
เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนยังเปราะบาง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น กำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์หดตัว -0.3% YoY จาก +11% ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับยอดค้าปลีกสินค้าซึ่งขยายตัวเพียง 4% ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนียอดค้าปลีกยังยังแตกต่างกันค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับระดับในช่วงก่อนโควิดระหว่างปี 2557-2562 (ดังรูป)
ตัวชี้วัดข้างต้นสะท้อนภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญแรงกดดันจากการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง นอกจากนี้ การส่งออกยังชะลอลงอย่างชัดเจน (2.3% ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ จาก 6-11% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567) ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์จากทุกประเทศในอัตรา 25% โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 เมษายน วิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบส่วนเพิ่มจากการขึ้นภาษียานยนต์ต่อจีนยังจำกัด โดยคาดว่าการส่งออกจะลดลงจากกรณีฐาน 0.32% อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจไทย
มาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ และการฟื้นตัวช้าของภาคท่องเที่ยว นับเป็นปัจจัยความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ได้แรงหนุนชั่วคราวจากภาคส่งออกที่โตสูง ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนชะลอตัวลง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 14% YoY ส่วนภาคท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยชะลอลงเหลือ 3.12 ล้านคน (-6.9% YoY) ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอตัวจากการลดลงของการบริโภคในหมวดสินคงทนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวแรงขึ้นเป็น -3.9% ในเดือนกุมภาพันธ์
แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการเติบโตของภาคส่งออกที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี ล่าสุดสหรัฐฯประกาศจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้น 25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน แม้ไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ของไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 1.6% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยลดลงจากกรณีฐานฯ -0.05% นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ เดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อย่างจริงจังกับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับตนเอง ไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับมาตรการภาษีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ อัตราภาษีเฉลี่ยของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 5-6% และเมื่อรวมกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งอยู่ที่ 7% อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้าจากไทยสูงถึง 13% อาจกลายเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

รัฐบาลเตรียมกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจกระทบต่อภาคท่องเที่ยวในระยะสั้น สถานการณ์ภาคท่องเที่ยวล่าสุด จากข้อมูลในช่วงวันที่ 1 มกราคม-23 มีนาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 8.89 ล้านคน (+2.9% YoY) สร้างรายได้ 434,662 ล้านบาท นำโดยนักท่องเที่ยวจีน (1,259,391 คน) มาเลเซีย (1,057,438) รัสเซีย (667,905) อินเดีย (498,341) และเกาหลีใต้ (475,124) ด้านท่องเที่ยวในประเทศ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 16.48 ล้านคน-ครั้ง (+4.1% YoY) สร้างรายได้ 8.8 พันล้านบาท (+6.6%)
การประคองการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวให้มีความต่อเนื่องหลังจากการฟื้นตัวช้าของนักท่องเที่ยวจีน ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเราเที่ยวด้วยกันในช่วงโลว์ซีซั่น (หลังเทศกาลสงกรานต์) เบื้องต้นกำหนดไว้ 1 ล้านสิทธิ์ รายละไม่เกิน 3,000 บาท โดยรัฐช่วยจ่าย 40% สำหรับเที่ยวเมืองหลัก และ 50% สำหรับเมืองรอง (ไม่รวมตั๋วเครื่องบิน) รวมถึงอาจพิจารณาต่อมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน แต่อาจลดจำนวนวันลงจาก 90 วันเหลือ 30 วัน (ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ 10-15 วัน) ขณะที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงยังคงต้องรอติดตามการประเมินความเสียหายรวมถึงอาจมีผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ เบื้องต้นสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ชี้ว่าผลกระทบในระยะสั้นจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากความกังวลเรื่องปลอดภัย โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะลดลง 10-15% หรืออาจจะมากกว่านี้ในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ไป
ข่าวเด่น