การค้า-อุตสาหกรรม
จ.ปราจีนบุรี เมืองสมุนไพร Herbal City เกษตรกรรวมกลุ่ม 'วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สมุนไพรอินทรีย์' ผลิตและแปรรูปส่งออกต่างประเทศ


นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสมุนไพรตามแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้คณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจังหวัดปราจีนบุรี เป็น 1 ใน 14 จังหวัดเป้าหมาย “เมืองสมุนไพร Herbal City” ของประเทศ ที่มุ่งผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 
สศท.6 ติดตามการดำเนินงาน วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สมุนไพรอินทรีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการผลิตสมุนไพรอินทรีย์คุณภาพพร้อมแปรรูป ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ (Organic Thailand) เริ่มดำเนินการปี 2564 และเข้าร่วมโครงการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2565 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 400 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 60 ราย โดยมีนายสายชล จันทร์แก้ว เป็นประธาน ซึ่งกลุ่มปลูกสมุนไพรรวม 7 ชนิด ได้แก่ มะระขี้นก ฟ้าทะลายโจร เพชรสังฆาต มะแว้ง ดีปลี กระเจี๊ยบแดง และลูกยอ โดยใน 1 ปี สามารถปลูกได้ 2 – 3 รอบการผลิต และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ได้แก่ สมุนไพรแบบอบแห้งมะระขี้นกแบบผงและอัดแคปซูล โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องหั่น เครื่องบดหยาบ เครื่องอบแห้ง โรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) จากสำนักงานพลังงานจังหวัด และวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี ทั้งนี้ สร้างรายได้ให้กลุ่มประมาณ 43,290,000 บาท/ปี หรือคิดเป็นกำไรประมาณ 19,290,000 บาท/ปี
 

 
การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สมุนไพรอินทรีย์ มีการบริหารจัดการได้ตามเป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต สมาชิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต จากก่อนเข้าร่วมโครงการ มีต้นทุนเฉลี่ย 34,497 บาท/ไร่/รอบการผลิต หรือลดลงร้อยละ 13 ด้านเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต สมาชิกได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เครื่องจักรกล ในการผลิตและแปรรูป เพื่อลดต้นทุนการจ้างแรงงาน และสินค้าได้มาตรฐาน สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 4,500 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต จากก่อนเข้าร่วมโครงการได้ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3,500 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ด้านการพัฒนาคุณภาพการการผลิต สมาชิกร้อยละ 92 ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) และกลุ่มใช้โรงอบพาราโบลาโดม เครื่องอัดแคปซูลมะระขี้นก และเครื่องอบแห้งซึ่งหลังจากอบแห้งมะระขี้นกแล้วบรรจุใส่ถุงจะเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี รวมถึงมีการสุ่มตรวจสอบค่าสารตกค้าง เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิต
 

 
 
ด้านการเชื่อมโยงตลาด มีการวางแผนการผลิตและการตลาด ผลิตตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าของลูกค้า (ล่วงหน้า 1 ปี) ซึ่งกลุ่มจะจำหน่ายแบบแปรรูปทั้งหมด ผลผลิตร้อยละ 50 ส่งออกตลาดจีนและไต้หวัน รองลงมาร้อยละ 49 จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตยาสมุนไพรในประเทศ และอีกร้อยละ 1 จำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเป็นมะระขี้นกแบบอบแห้ง แบบผง และอัดแคปซูล ชาสมุนไพร และน้ำมันสมุนไพร โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ด้านบริหารจัดการ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ และเอกชนทั้งองค์ความรู้ อุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งบริหารจัดการวางแผนการผลิต คุณภาพผลผลิตได้มาตรฐาน GAP นอกจากนี้ กลุ่มยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการเกษตร งานด้านพัฒนาอาชีพ การปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ และจุดเรียนรู้ชุมชนการผลิตใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพ

 
 
ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มในระยะต่อไป กลุ่มมีแผนสร้างโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อต่อยอดสูตรปุ๋ยอินทรีย์ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งกลุ่ม และการขอรับรองระบบการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (GMP) และมาตรฐานอื่น ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และมีแนวคิด การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำงานวิจัยเรื่อง การตรวจสารสำคัญทางยาของสมุนไพรต่าง ๆ  หากท่านใดสนใจข้อมูลหรือศึกษาดูงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่นายสายชล จันทร์แก้ว เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สมุนไพรอินทรีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หรือสามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 1398 หรืออีเมล์ zone6@oae.go.th
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 เม.ย. 2568 เวลา : 16:25:16
04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 4:16 am