
หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ดำเนินนโยบายภาษีที่สูงลิ่วกับบรรดาประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกับทางจีน ที่ได้ดำเนินการเพิ่มการเก็บอัตราภาษีมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ในอัตรา 10% เพิ่มเป็น 54% ในช่วงการใช้ภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับคู่ค้าสหรัฐทั่วโลก 60 ประเทศ จากนั้นก็มีการขู่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ห้ำหั่นกันระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจไปมา จนสหรัฐวางแผนที่จะเก็บภาษีกับทางจีนในอัตราที่สูงถึง 145% แต่ล่าสุดในเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ได้แสดงท่าทีลังเลที่จะดำเนินการเก็บภาษีสินค้าจากจีนไปมากกว่านี้ ด้วยเหตุผลที่กลัวคนในประเทศจับจ่ายซื้อของกันน้อยลง เพราะราคาสินค้าในตลาดที่แพงเกินไป
วันที่ 17 เม.ย. 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้กล่าว ณ ที่ทำเนียบขาวว่า เขามีความกังวลที่ไม่อยากให้ภาษีของสินค้าขึ้นไปสูงมากกว่านี้แล้ว เนื่องจากจะทำให้ชาวอเมริกันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจนอาจลดการบริโภคลง ไม่กล้าซื้อสินค้า ทรัมป์จึงแสดงท่าทีลังเลที่จะใช้มาตรการภาษีต่อสู้กับทางจีนไปมาอีกต่อไป พร้อมยังส่งสัญญาณที่อาจจะเข้าเจรจากับจีนเพื่อลดภาษีสินค้าลง ด้วยการอ้างว่า ทางผู้แทนระดับสูงของ “สี จิ้นผิง” ผู้นำจีน ได้พยายามติดต่อเข้ามาหลายครั้ง เพื่อขอเจรจาหาข้อตกลงกับทางสหรัฐก่อนเอง แต่ก็พยายามบ่ายเบี่ยงกับนักข่าวว่าได้พูดคุยกับทางสี จิ้นผิงโดยตรงหรือไม่ โดยให้เหตุผลแทนที่ว่า ยังไงสี จิ้นผิงก็ต้องรู้เรื่องนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนหรือตัวเขาเอง ก็เหมือน ๆ กัน
ซึ่งดูเหมือนว่า การใช้มาตรการทางภาษีต่อสู้กับทางจีน ดูจะไม่เป็นการให้ผลลัพธ์ในทางที่ดีแก่ตัวสหรัฐเอง เหมือนกับที่สหรัฐใช้มาตรการเดียวกันเข้ากดดันกับบรรดาประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและต้องพึ่งพาตลาดต่างชาติอย่างเวียดนาม ไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ได้ประกาศข่มขู่ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราสูงลิ่ว ก่อนที่ทรัมป์จะใช้มาตรการผ่อนผันหยุดขึ้นภาษีเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามาขอประนีประนอมหาทางออกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน แทนที่จะใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้กลับ แต่กับประเทศจีนนั้น ที่ยึดหลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก็ได้ใช้มาตรการเดียวกันสวนหมัดใส่สหรัฐทันที จนฝ่ายจีนขึ้นภาษีกับสินค้าสหรัฐในอัตราที่สูงถึง 125% พร้อมกับกดดันสหรัฐทั้งทาง Supply Chain และดักตีทางอ้อมด้วยวิธีต่าง ๆ จนสถานการณ์การค้าโลกร้อนระอุ และฝ่ายที่เจ็บหนักดูจะเป็นสหรัฐเสียเอง
กล่าวคือ สหรัฐเองนั้นอยู่ภายใต้การขาดดุลทางการค้ามายาวนานแล้ว เพื่อแลกกับการเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และให้ประเทศคู่ค้านำเงินสกุลดอลลาร์ที่สหรัฐจ่ายซื้อสินค้าพวกเขามาแลกกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือก็คือการให้สหรัฐกู้ยืมหนี้ จนประเทศตนเองมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ แต่เมื่อทรัมป์ได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสมัยปัจจุบัน ก็ได้ตั้งปณิธานว่าจะ “Make America Great Again” ด้วยการฟื้นคืนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ และส่งเสริมธุรกิจในประเทศตัวเอง มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าโดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับสหรัฐ จึงเป็นกลยุทธ์หลักเพื่อกีดกันสินค้านำเข้า และเป็นการเปิดทางให้นานาประเทศเข้ามาเจรจา เพื่อมีการเพิ่มพื้นที่ให้สินค้าของสหรัฐเข้าไปเจาะตลาดประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยอาจใช้วิธีลดภาษีสินค้าสหรัฐ เพื่อปรับสมดุลทางการค้า และทำให้สหรัฐไม่ดำเนินมาตรการกำแพงภาษีกับประเทศตัวเอง
แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันกว่า 90% มาจากทางจีน การใช้มาตรการขึ้นภาษีกับทางจีน ที่จีนไม่ประนีประนอมแต่กลับสู้กลับอย่างไม่ยอมอ่อนข้อ ทำให้สินค้ากลุ่มสำคัญย่อมมีราคาสูงอย่างฉับพลัน ซึ่งสหรัฐคงต้องเผชิญกับเรื่องของสภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตทางเศรษฐกิจโดยเป็นแน่ ครั้นจะผลิตสินค้า Made in USA เข้ามาทดแทนสินค้าจีนก็ต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน เหตุผลตรงนี้เองจึงอาจเป็นการอนุมานได้ว่า สหรัฐกำลังส่งสัญญาณเพื่อหาทางลงกับทางจีน และสงครามทางการค้าอาจเป็นแค่บทละครสั้น ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ทางจีนเองเปิดเผยว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าสหรัฐนั้นต้องการอะไรกันแน่ แต่ก็เหมือนจะแสดงความเป็นไปได้ที่จะเจรจากัน ซึ่งบทสรุปของสหรัฐ-จีน จะเป็นอย่างไรต่อไป การค้าโลกจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวเด่น