การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"สถาบันศิโรจน์ผลพันธิน" ร่วมกับ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชน ทั่วประเทศเรื่อง "มหาวิทยาลัยไทยในสายตาประชาชน"


“สถาบันศิโรจน์ผลพันธิน” ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชน ทั่วประเทศเรื่อง “มหาวิทยาลัยไทยในสายตาประชาชน” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,180 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2568 สรุปผลได้ ดังนี้

 
1. ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยไทยในประเด็นต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 การจัดการเรียนการสอน 81.39%

อันดับ 2 การวิจัย 75.83%

อันดับ 3 การบริการทางวิชาการแก่ชุมชน/สังคม 75.49%

อันดับ 4 การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 75.08%

อันดับ 5 การเป็นผู้นำของสังคมไทย 74.95%

2. ในโลกของการเปลี่ยนแปลง “มหาวิทยาลัยไทย” ควรทำหน้าที่แตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง

อันดับ 1 เน้นการวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงและสร้างรายได้จริง 28.17%

อันดับ 2 พัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 28.03%

อันดับ 3 จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริม Soft Power ไทย 23.01%

อันดับ 4 พัฒนาผู้เรียนให้เกิดภาวะผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ มีคุณธรรม จริยธรรม 22.97%

อันดับ 5 ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต 20.05%

3. ประชาชนคิดว่าอะไรคือ “จุดแข็ง” ของ มหาวิทยาลัยไทย

อันดับ 1 หลักสูตรการเรียนการสอนหลากหลาย 75.21%

อันดับ 2 มีบุคลากร/อาจารย์ผู้สอนมีคุณภาพ 65.03%

อันดับ 3 มีสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย (ห้องสมุดดิจิทัล, Wi-Fi, Co-working Space) 42.95%

4. ประชาชนคิดว่าอะไรคือ “จุดอ่อน” ของ มหาวิทยาลัยไทย

อันดับ 1 ผู้สอนเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติจริง 66.38%

อันดับ 2 บางหลักสูตรไม่ทันสมัย หางานทำยาก 51.02%

อันดับ 3 การสนับสนุนด้านทุนการศึกษาหรืองบประมาณยังไม่ทั่วถึง 46.25%

5. ประชาชนคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยไทยควรมีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย ณ วันนี้
 
อันดับ 1 ผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงและพร้อมทำงาน 74.41%

อันดับ 2 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 65.25%

อันดับ 3 เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิต 48.31%

6. ประชาชนคิดว่ามหาวิทยาลัยไทยเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้เพียงใด
 
อันดับ 1 พอจะเป็นที่พึ่งได้บ้าง 61.86%

อันดับ 2 เป็นที่พึ่งได้อย่างมาก 30.17%

อันดับ 3 เป็นที่พึ่งไม่ค่อยได้ 6.78%

อันดับ 4 ไม่ได้เป็นที่พึ่งเลย 1.19%

7. คะแนนเต็ม 10 ประชาชนให้คะแนนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในภาพรวม 7.35 คะแนน

* หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

สรุปวิเคราะห์ผลโพล : “มหาวิทยาลัยไทย” ในสายตาประชาชน

“สถาบันศิโรจน์ผลพันธิน” ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเรื่อง “มหาวิทยาลัยไทยในสายตาประชาชน” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,180 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยไทยในด้านการจัดการเรียนการสอนมากที่สุด ร้อยละ 81.39 โดยมองว่าในโลกของการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยควรเน้นการวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงและสร้างรายได้จริง ร้อยละ 28.17 ด้านจุดแข็งของมหาวิทยาลัยไทย คือ หลักสูตรการเรียนการสอนหลากหลาย ร้อยละ 75.21 จุดอ่อน คือ ผู้สอนเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติจริง ร้อยละ 66.38 สิ่งที่คาดหวังต่อมหาวิทยาลัยไทย คือ ผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงและพร้อมทำงาน ร้อยละ 74.41 โดยคิดว่ามหาวิทยาลัยไทยพอจะเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้บ้าง ร้อยละ 61.86 ทั้งนี้ให้คะแนนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในภาพรวม 7.35 คะแนน

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนว่าประชาชนคาดหวังให้มหาวิทยาลัยไทย ทำหน้าที่มากกว่าการผลิตบัณฑิตโดยต้องผลิตคนที่ใช่ สร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ เชื่อมโยงกับชุมชน ไม่อยู่แค่ในห้องเรียนหรืองานวิชาการ ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยจึงควรปรับบทบาทจากการเป็นแหล่งความรู้แบบดั้งเดิมไปเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ ทุกที่ทุกเวลา (One World Library) สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของผู้คนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่พึ่งให้กับสังคมมากขึ้น

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทร 086-3766533

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่าจากผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยไทย โดย “สถาบันศิโรจน์ผลพันธิน” ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล”

ได้สะท้อนความเชื่อมั่นที่สังคมยังคงมีต่อมหาวิทยาลัย ในฐานะศูนย์กลางทางวิชาการของชาติและยังคงเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคม ข้อค้นพบสำคัญคือ ประชาชนไม่ได้ต้องการเพียงสถาบันที่สอนดีหรือผลิตบัณฑิตเก่งเท่านั้น หากแต่ต้องการเห็นมหาวิทยาลัยที่สามารถปฏิบัติได้จริง วิจัยใช้ได้จริง และตอบโจทย์สังคมได้อย่างเท่าทัน เพื่อตอบสนองความคาดหวังดังกล่าว มหาวิทยาลัยไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานใน 3 แกนหลัก ได้แก่ 1) การปฏิรูปการเรียนการสอน เรียนแล้วต้องใช้ได้จริง 2) การวิจัยเพื่อใช้ ไม่ใช่แค่เพื่อตีพิมพ์ ปรับทิศทางจาก “วิจัยเชิงวิชาการ” ไปสู่ “วิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์” และ 3) เสริมบทบาทต่อสังคม เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาชุมชนผ่านกลไก University Social Responsibility (USR) และ Service Learning เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือการยกระดับศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 พ.ค. 2568 เวลา : 13:41:25
12-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 12, 2025, 12:56 pm