เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ส่งออกจีน เม.ย. พุ่งแรง 8.1% จากแรงหนุนส่งออกไปอาเซียนมากขึ้น ชดเชยตลาดสหรัฐ


 

เรียกได้ว่านโยบายภาษีของทรัมป์ จะทำเอากลไกการค้าโลกเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นให้เห็นกันแล้ว เพราะจากที่ทั้งสหรัฐและจีนได้ขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาอย่างไม่มีใครยอมใคร แม้ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีนิมิตหมายอันดี ที่ทั้ง 2 ขั้วมหาอำนาจได้มีการประชุมหารือกันแล้ว แต่การที่ยังไม่มีผลของการหารือออกมาอย่างเป็นทางการเพื่อกู้สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าไปได้ ประเทศจีนที่เคยมีตลาดผู้บริโภครายใหญ่อย่างสหรัฐนั้น ทำให้การเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าตนเองไปยังตลาดอื่นจึงอาจมีแววว่ายังคงดำเนินต่อไป เฉกเช่นกับช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ที่การส่งออกจีนกลับพุ่งแรงเกินคาดถึง 8.1% และตลาดชดเชยเป้าหมายหลักของจีนก็ดูเหมือนจะเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน ที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 21% ภายในเดือนเดียวกัน
 
 
อ้างอิงจากทางสำนักงานศุลกากรจีน รายงานว่า การส่งออกของจีนสุทธิในเดือนเม.ย. ขยายตัว 8.1% ด้านการนำเข้าลดลงเล็กน้อย 0.2% ทำให้จีนยังคงเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสุทธิกว่า 96,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความน่าสนใจที่ทำให้จีนยังคงรักษาการเติบโตทางการส่งออกเอาไว้ได้ แม้ในเดือนดังกล่าว จีนจะสูญเสียตลาดใหญ่อย่างสหรัฐ ที่ทำเอาการส่งออกร่วงลงไปถึง 21% แต่จีนได้แก้เกมด้วยการส่งออกสินค้าไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้น 20.8% เพื่อชดเชยการสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้ากับสหรัฐ ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (EU) ก็ยังเพิ่มขึ้น 8.3% อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม การส่งออกจีนในเดือนเม.ย.ได้มีการชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค. 12.4% แต่ก็เป็นเหตุเนื่องมาจากจีนเร่งดำเนินการจัดส่งสินค้าออกไปจำนวนมาก เพื่อเตรียมลดแรงกระแทกจากมาตรการขึ้นภาษีสหรัฐฯ ที่ตอบโต้กับจีนไปมา จนอัตราภาษีทะยานสูงถึง 145% อีกทั้งการส่งออกของจีนที่ระดับ 8.1% ล่าสุด ก็เป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้เพียงแค่ 1.9% เพราะจีนก็ยังหาทางออกด้วยการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน ที่มีจุดแข็งหลายด้านที่เหมาะสมในการเป็น “ทางออก” ของเศรษฐกิจจีนเมื่อเผชิญกับกำแพงภาษีจากสหรัฐ เนื่องจากข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่จีนอยู่ติดกับหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว เมียนมา และไทย ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ถูกกว่าเมื่อเทียบกับส่งไปยุโรป (จึงเป็นที่มาของยอดส่งออกที่มากกว่า) และอาเซียนก็จัดได้ว่าเป็น Emerging Market หรือตลาดเกิดใหม่ที่เป็นทั้งตลาดขนาดใหญ่และเติบโตเร็ว ด้วยสัดส่วนประชากร รวมกันกว่า 670 ล้านคน และยังมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น กำลังซื้อสูงขึ้น
 
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนก็ยังเอื้ออำนวย ทั้งในมิติของความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด ที่ทั้งสองมีข้อตกลงการค้าเสรี (ACFTA – ASEAN-China Free Trade Area) ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ลดลงหรือเป็นศูนย์ ง่ายต่อการผลักดันสินค้าเข้าไปในภูมิภาคนี้ และที่สำคัญจีนกำลังดัน Belt and Road โครงการจีนเชื่อมโลก ที่มีแถบของเส้นทางพาดผ่านอาเซียน ซึ่งจีนได้เข้าไปลงทุนการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟจีน-ลาว และ ท่าเรือในมาเลเซีย-กัมพูชา โดยช่วยให้จีนสามารถควบคุมห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันสินค้าเข้าสู่ภูมิภาคนี้ได้คล่องขึ้น
 
สรุป คือ อาเซียนตอบโจทย์ทั้งในฐานะตลาดผู้บริโภคและพันธมิตรทางการค้า ทำให้จีนสามารถลดผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม อาเซียนก็ยังเป็น “ทางออกระยะสั้น” ที่ใช้เพื่อช่วยประวิงเวลา พยุงการส่งออก และรักษาระดับการผลิตภายในประเทศได้ในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จีนจะพึ่งพิงด้านการส่งออกได้ตลอดไป เพราะแม้อาเซียนจะเป็นตลาดกำลังโต แต่ยังเป็นประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจแบบเปิดที่จำเป็นต้องพึ่งการบริโภคภายในประเทศจีนและสหรัฐค้ำไว้อยู่ดี ต่างจากตลาดสหรัฐ ที่ประชากรมีสัดส่วนรายได้ต่อหัวสูงมาก และยังมีการบริโภคที่แข็งแรง ดังนั้นสหรัฐจึงเป็นตลาดปลายทางที่สำคัญกว่า และคาดว่าจีนเองหาทางรีเซ็ตความสัมพันธ์กับสหรัฐเช่นกัน ซึ่งก็คงต้องรอความชัดเจนจากผลของการที่สหรัฐและจีนได้มีการประชุมหารือกันที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 -11 พ.ค. ที่ผ่านมานี้ว่ามีการตกลงด้านภาษีในแง่ไหนบ้าง

LastUpdate 11/05/2568 21:52:44 โดย : Admin
20-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2025, 11:55 am