เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : ค่าเงินบาทแข็ง ฉุดนักท่องเที่ยวเข้าไทยลด เบนเข็มเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านแทน


ณ ขณะนี้ ค่าเงินในหลายประเทศมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดทุนสหรัฐ เช่น ไต้หวัน หรือ ประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศ Emerging Markets ที่นักลงทุนมองว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดีสำหรับช่วงการดำเนินมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ที่ยังคงคลุมเครือจนลดความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐในช่วงปัจจุบันนี้ แม้มองในระยะผิวเผินไทยเหมือนจะได้เปรียบทางเศรษฐกิจ แต่กลไกที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็นับว่าเป็นดาบสองคมที่จะส่งผลกระทบภาคการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย และยังส่งไม้ต่อลุกลามไปยังเรื่องอื่น ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสียเอง
 
ด้านของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทตอนนี้มีการแข็งค่าตามสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets และสกุลเงินประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากนักลงทุนในตลาดมีความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อสินทรัพย์สหรัฐ อันเนื่องมาจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้เกิดการลดการถือครองเงินดอลลาร์ หุ้น และพันธบัตรสหรัฐ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์มีการอ่อนค่าลง สอดคล้องกับทาง SCB FM ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่วิเคราะห์ว่าทิศทางของดอลลาร์จะมีการอ่อนค่าลง จากที่เงินทุนต่างไหลออก และจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ทั้งยุโรป และ Emerging Markets ในระยะต่อไป ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง โดยจะหนุนกลไกตลาดให้ราคาของเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะที่กรอบ 32.50 - 33.50 บาทในสิ้นปี 2568 นี้
 
อย่างไรก็ตาม การที่เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ายังไทย โดยเฉพาะในส่วนของตลาดพันธบัตรไทย ที่ส่งผลดีต่อรัฐบาลที่สามารถกู้เงินได้ในต้นทุนที่ต่ำลง (ดีต่อการลงทุนระยะยาว) รวมถึงส่งผลดีในแง่ของการนำเข้า ที่สามารถซื้อของจากต่างประเทศได้ถูกลง เช่น พลังงาน, วัตถุดิบ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ด้วยปัญหาตอนนี้ คือกลไกของการค้าโลกมีการแปรปรวนเกิดขึ้น ความเสี่ยงของการแบกรับต้นทุนโดยสินค้านำเข้านั้นอาจกลับมีมากกว่าปกติ และค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีต้นทุนการมาท่องเที่ยวในไทยนั้นมากขึ้น ซึ่งเมื่อประสบกับช่วง Low Season ตั้งแต่เดือนพ.ค. - ต.ค. ก็ยิ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยนั้นซบเซาลงตาม ในขณะที่คนไทยด้วยกันเองนั้นก็มีแนวโน้มที่จะออกไปเที่ยวยังต่างประเทศมากขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า แรงส่งจากการที่หลายประเทศมีการส่งเสริมการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเที่ยวในประเทศตัวเอง ทำให้การท่องเที่ยวยิ่งมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะประเทศที่ค่าเงินสัมพันธ์กับค่าเงินดอลลาร์ที่ช่วงนี้อ่อนค่าลงไป อย่างเช่น กัมพูชา
 
กัมพูชา จัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีการใช้เงินดอลลาร์อย่างแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจ การใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ต่างยังคงเสนอราคาในสกุลเงินของดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน กัมพูชายังสามารถควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อได้ดี ทำให้ราคาของสินค้าและบริการมีราคาที่ถูกกว่าประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน และที่สำคัญคือ ด้วยรูปแบบของวัฒนธรรมที่มีความทับซ้อนกันในหลายจุด และกัมพูชาก็ส่งเสริมการส่งออกทางด้านอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับไทยอย่างแยกไม่ออก ผนวกกับการเปิดสนามบินแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ จะยิ่งเป็นการช่วยเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของกัมพูชาให้เติบโตได้มากขึ้น เป็นแต้มต่อที่ดีที่สุดในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากฐานของตลาดท่องเที่ยวไทย
 
สำหรับการแก้เกมของประเทศไทยนั้น ล่าสุดได้เห็นความชัดเจนจากทางรัฐบาลที่จะมีการฟื้นความเชื่อมั่นของภาคการท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งจะมีการหารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวจีนในเร็ว ๆ นี้ และรัฐบาลยังเตรียมออกโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโลว์ซีซั่น ซึ่งแม้อาจจะได้ผลตอบรับน้อยกว่าหากเทียบกับตลาดต่างประเทศที่หายไป แต่ก็จะเป็นการช่วยพยุงภาคภาคท่องเที่ยวไทย และผู้ประกอบการไทยให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนได้เริ่มใช้สิทธิ์ในโครงการภายในเดือน มิ.ย.นี้ ด้วยรูปแบบการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 50% ในพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของไทย

LastUpdate 11/05/2568 21:52:27 โดย : Admin
20-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2025, 10:27 am