เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : เศรษฐกิจจีน เผชิญภาวะเงินฝืดเรื้อรัง จากการบริโภคในประเทศหดตัว-สินค้าโอเวอร์ซัพพลาย


เรียกได้ว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ เศรษฐกิจจีนต่างต้องรับศึกหนักจากภัยรอบด้าน ตั้งแต่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่ปะทุขึ้นมา ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามทางการค้าในช่วง Trump 1.0 ที่ลุกลามมาในสมัยที่ 2 จากการกีดกันทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีในอัตราที่สูงลิ่ว แม้ตอนนี้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องดังกล่าว จะบรรลุข้อตกลงในการหยุดพักภาษีเป็นเวลา 90 วัน โดยลดการเก็บภาษีระหว่างกันลงฝ่ายละ 115% แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็ได้ซ้ำเติมให้สภาวะเงินฝืดของจีนฝังรากลึกมากขึ้น เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 
ประเทศจีน ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตของโลก สินค้าแทบจะทุกประเภทล้วนถูกส่งออกไปตีตลาดยังหลากหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้ง Supply Chain ของสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้คนก็ล้วนผ่านเส้นทางแดนมังกรแทบทั้งสิ้น เฉกเช่นเดียวกับประเทศพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของจีนอีกด้วย ฉะนั้นจากการที่สหรัฐและจีนมีความคุกรุ่นกันทางด้านอำนาจและการเมืองกันอยู่แล้ว การยกประเด็นการขึ้นภาษีสินค้าเพื่อตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับทางสหรัฐ โดยมุ่งเป้ากดดันอิทธิพลของจีนให้ลดลง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าการส่งออกของจีนเต็ม ๆ ถึงแม้ว่าจีนจะใช้กลยุทธ์ตาต่อตาฟันต่อฟันด้วยการขึ้นภาษีในอัตราสูงตอกกลับไปยังสหรัฐ แต่มันก็ไม่สามารถรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นบนเส้นทางการค้าของจีน ที่ย้อนกลับไปทำร้ายต่อภาคการบริโภคของจีนโดยตรง
 
เมื่อตลาดใหญ่อย่างสหรัฐได้กีดกันการนำเข้าสินค้าจากจีน บรรดาสินค้าจำนวนมหาศาลตรงนี้จึงต้องมีการระบายออก เพื่อรักษากระแสเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยจากการกระจายส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และความจำเป็นที่ต้องกลับมาเพิ่มสต็อกขายในประเทศบ้านเกิดร่วมด้วย เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียน แม้จัดได้ว่าเป็นตลาดกำลังโต แต่ยังเทียบไม่ได้กับสหรัฐ ที่ประชากรมีสัดส่วนรายได้ต่อหัวสูงมาก และมีการบริโภคที่แข็งแรงกว่า ดังนั้นการที่สินค้าต้องหวนกลับมาขายในประเทศจึงอยู่ในสภาวะจำยอม และก่อเกิดส่วนเกินสวนทางกับดีมานด์ในประเทศจีนที่มีความตึงตัวอยู่แล้ว
 
เพราะจากที่เศรษฐกิจจีนนั้นมีความซบเซาอยู่แล้ว และภาคการบริโภคของประชาชนชาวจีนก็ไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ผู้คนมีความระมัดระวังในด้านการใช้จ่ายมากขึ้น ลดการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่การที่สินค้ากลับเพิ่มจำนวนขึ้นมา แน่นอนว่าก็ยิ่งทำให้ภาคการบริโภคในประเทศเกิดการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงกว่าเดิม และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อสินค้าขายออกยาก บรรดาผู้ผลิตจึงต้องพากันลดราคาสินค้าอย่างหนักหน่วง เพื่อให้สามารถระบายสินค้าที่ค้างอยู่ในคงคลังให้ออกไปได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ตรงนี้เองที่ทำให้วัฏจักรของสภาวะเงินฝืดมีความเรื้อรังลึกลงไปกว่าเดิม เพราะกลไกการลดราคาสินค้า นอกจากจะทำลายโครงสร้างราคาสินค้าแล้ว ผู้ผลิตยังมีรายได้ลดลง กลายเป็นชนวนที่ส่งผลเสียต่อไปยังความจำเป็นที่ต้องลดต้นทุนลง โดยเฉพาะการลดค่าจ้างไปจนถึงลดการจ้างงาน ซึ่งก็ไปซ้ำเติมยังรายได้ครัวเรือนและปัญหาการว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนอีกระลอกใหญ่ เป็นวงจรที่หมุนเวียนพิษทางเศรษฐกิจจีนอย่างไม่จบไม่สิ้น
 
หากภาวะเงินฝืดยังคงทวีความรุนแรงในจีนอย่างไม่จบไม่สิ้นอยู่แบบนี้ โดยที่รัฐบาลจีนไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างเด็ดขาด จีนก็คงยังต้องเผชิญกับการขาดความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุน ซึ่งในที่สุดอาจร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดสภาวะ Recession และเมื่อนั้นสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกคงต้องเผชิญกับฝันร้ายตาม ๆ กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

LastUpdate 18/05/2568 21:28:14 โดย : Admin
20-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2025, 7:34 am