การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
วิเคราะห์เหตุแผ่นดินไหวเมียนมาร์ขนาด 7.7 และเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม สู่การปรับปรุงกฎหมายในอนาคต โดย สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย


 
จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมาทำให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น พังถล่มราบคาบลงมาทั้งหลัง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ เหตุการณ์ตึกถล่มดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและอยู่ระหว่างการสืบหาข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน สำหรับจุดที่พังถล่มเป็นจุดแรกคาดการณ์ว่า เกิดขึ้นที่บริเวณผนังปล่องลิฟต์ น่าจะเป็นช่วงชั้นล่างๆ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชั้นใดก่อน เมื่อปล่องลิฟต์พังถล่มแล้วจึงฉุดรั้งให้เสาอาคารรวมทั้งส่วนอื่นๆของอาคารพังถล่มลงมาทั้งหลังอย่างสิ้นเชิง

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายถึงข้อสันนิษฐานสาเหตุที่เป็นไปได้ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ 1. ความแรงของแผ่นดินไหว 2. การคำนวณออกแบบอาคาร 3. การก่อสร้างอาคาร และ 4. คุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเสริม อุปกรณ์ต่อเหล็ก เป็นต้น ซึ่งแต่ละปัจจัยย่อมต้องมีการพิสูจน์ให้แน่ชัดโดยจะต้องคำนึงถึงองค์ความรู้และวิทยาการด้านนิติวิศวกรรมศาสตร์ (Forensic Engineering) ที่ทันสมัยโดยมีข้อสังเกตดังนี้

1. การพิสูจน์การออกแบบ โดยการสร้างแบบจำลอง จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานในห้วงเวลาที่ทำการออกแบบ และหากพบการออกแบบผิดพลาด จะต้องตรวจสอบโดยแบบจำลองที่ละเอียดกว่า เพื่อพิสูจน์ว่า เป็นสาเหตุให้การเกิดพังถล่มหรือไม่

2. การเก็บตัวอย่างคอนกรีตไปทดสอบ จะต้องเก็บตัวอย่างให้ครอบคลุม ในส่วนที่เป็นเนื้อโครงสร้างที่แข็งแรง และบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดอ่อน เช่น บริเวณรอยต่อการเทคอนกรีต (Cold joint) และควรนำเสนอผลการทดสอบให้สาธารณะ ทราบโดยเร็ว

3. จะต้องเก็บรักษาวัตถุพยาน เพื่อรอการพิสูจน์โดยวิทยาการที่ทันสมัย หรือ มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมพิสูจน์

4. แรงแผ่นดินไหว ต้องอาศัยข้อมูลการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวตามสถานที่ต่างๆ

ทั้งนี้ในเรื่องการพังถล่มของอาคาร มีประเด็นปัญหาเรื่องวิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การปลอมลายมือชื่อวิศวกร วิศวกรอายุ 85 ปีทำการรับรองการคำนวณออกแบบ วิศวกรต่างด้าว และอื่นๆ จึงมีข้อเรียกร้องต่อสภาวิศวกรดังนี้

1. สภาวิศวกรควรดำเนินการอย่างจริงจังกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน เนื่องจากความปรากฏต่อสาธารณะแล้ว สภาวิศวกรสามารถใช้วิธีกล่าวโทษเพื่อเริ่มกระบวนการจรรยาบรรณต่อวิศวกรที่เกี่ยวข้องได้เลย

2. ขอเรียกร้องให้สภาวิศวกรเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหา อย่างเร่งด่วน

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ อธิบายเพิ่มเติมว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันเหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหวเช่นนี้ในอนาคต เช่น

1. พระราชบัญญัติวิศวกร กำหนดสมรรถนะของวิศวกรในการออกแบบอาคารสูงหรือใหญ่พิเศษภายใต้แรงแผ่นดินไหว เพิ่มโทษการปลอมแปลงใบอนุญาต เพิ่มอำนาจระงับใช้ใบอนุญาตชั่วคราว

2. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารราชการต้องขออนุญาตเช่นเดียวกับอาคารเอกชน กำหนดให้มีการตรวจสอบการออกแบบอิสระ (Blind independent check) มีกฎหมายให้ประเมินและเสริมกำลังอาคารเสี่ยงตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล อาคารสูง เป็นต้น

3. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่ม มอก. บังคับ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น คอนกรีตผสมเสร็จ อุปกรณ์ต่อเหล็กทางกล เป็นต้น

4. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์พังถล่มของอาคาร

5. พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนดขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างข่วง และหลักเกณฑ์การจ้างช่วง เพิ่มความโปร่งใสในขั้นตอนการก่อสร้าง เช่น การแก้ไขแบบ การทดสอบวัสดุ ต้อง upload ขึ้นระบบให้ตรวจสอบได้

6. พระราชบัญญัติการผังเมือง เพิ่มผังสีความเสี่ยงแผ่นดินไหว โดยอาศัยหลักการ Microzonation

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ค. 2568 เวลา : 14:56:31
22-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 22, 2025, 10:21 am