เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : Fed อาจลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หวังช่วยพยุงตลาดแรงงานสหรัฐ


ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณว่าการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจดำเนินเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในเดือนก.ย. 2568 เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐคงตัวอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่ใช่ปัญหาที่ต้องรับการแก้ไขอีกต่อไป หากแต่จำนวนคนตกงานในสหรัฐที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การรักษาสภาวะตลาดแรงงานถือเป็นเรื่องที่จำเป็นกว่า
 

ตามข้อมูลจากทาง FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้นักลงทุนในสัดส่วน 69.3% ต่างคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00 - 4.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed วันที่ 17 ก.ย. 2568 ส่วนการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 30 ก.ค. ของปีเดียวกันนั้น นักลงทุนกว่า 79.3% มองว่า Fed น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% เอาไว้อยู่
 
แต่ในขณะเดียวกัน มิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวว่า ตัวเขาจะสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. หากแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าเป้าหมายในระดับที่เป็นกลาง ซึ่งในเรื่องนโยบายการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐนั้น คาดว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อเพียงชั่วคราวและจำกัด ซึ่งจะสามารถเปิดทางให้มีการลดดอกเบี้ยได้ นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยจะช่วยรักษาตลาดแรงงานให้คงอยู่ในสภาวะที่แข็งแรง เพราะแม้ตอนนี้ตลาดการจ้างงานจะอยู่ในสภาวะที่ดี แต่นับว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น จึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่เนิ่น ๆ
 
โดยการส่งสัญญาณของโบว์แมนดังกล่าว สอดคล้องกับทัศนะของ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ สมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) กล่าวว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ จะไม่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นปัญหาเงินเฟ้อจึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอีกต่อไป หากแต่ Fed ควรลดดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวในตลาดเแรงงาน อย่ารอจนกว่าตลาดจะทรุดลง ซึ่งเห็นสมควรว่าสามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. ไม่ใช่เดือน ก.ย.
 
 
 
โดยหากพิจารณาจากตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ อันเป็นข้อมูลสำคัญที่ชี้ถึงสภาพตลาดแรงงานรวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม พบว่ามีทิศทางที่ค่าจริงจะมากกว่าการคาดการณ์อยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจกำลังประสบปัญหาในระยะแรกเริ่ม ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาที่กำลังฟักตัว
 
ขณะที่ทางเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กลับยังย้ำจุดยืนตลอดเวลาต่อสภาคองเกรสว่า ยังคงต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ให้ชัดเจนเสียก่อน จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ ซึ่งสำหรับฝั่งของทรัมป์ก็ได้ออกมาโจมตีพาวเวลล์อยู่ตลอด ว่าเขาดื้อรั้นและตัดสินใจล่าช้า อีกทั้งยังอ้างว่าสหรัฐไม่มีเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจมีความแข็งแรง Fed จึงควรที่จะลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อยสัก 2-3% เพื่อช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
 
ทั้งนี้ตามรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของปี 2568 ยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้ ซึ่งก็คงต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนไหนของครึ่งหลังในปีนี้ ขณะที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 25 มิ.ย. 2568 ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในบริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง จากความเสี่ยงที่การส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มิ.ย. 2568 เวลา : 17:36:25
12-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 12, 2025, 8:26 pm