เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ทรัมป์ ย้ำชัด ไม่ผ่อนผันเวลาระงับขึ้นภาษี หวั่นประเทศคู่ค้าโดนเรียกเก็บอัตราสูงสุด 50%


 

เรียกได้ว่าทำเอาตลาดหุ้นโลกเกิดการสั่นสะเทือนทันที หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์“ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า จะไม่มีการขยายระยะเวลาการระงับใช้มาตรการการปรับขึ้นภาษีนำเข้าออกไปอีก ดังนั้นภาษีศุลกากรตอบโต้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ก.ค. 2568 นี้ ซึ่งแต่ละประเทศคู่ค้าของสหรัฐจะโดนเรียกเก็บในอัตราที่ไม่เท่ากัน โดยมีโอกาสที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 25% ไปจนถึงสูงสุดที่ 50%
 
แม้ว่าสงครามการค้าจะยุติไปแล้วระหว่างสหรัฐและจีน ที่ได้ลงนามข้อตกลงเจนีวา ว่าด้วยการส่งแร่หายากแลกกับการหยุดโจมตีทางด้านภาษี ซึ่งดูเหมือนว่าการตกลงของประเทศมหาอำนาจดังกล่าวจะเป็นตัวชี้นำไปสู่การเจรจาการค้าทางบวกกับอีกหลาย ๆ ประเทศ และอาจขยายระยะผ่อนผันการปรับขึ้นภาษีนำเข้าออกไปมากกว่า 90 วัน แต่ท่าทีของสหรัฐกลับไม่เป็นดั่งที่นักลงทุนคาดไว้ เพราะล่าสุด ทรัมป์ได้มีการประกาศชัดว่า เขาไม่มีแผนที่จะขยายเวลาผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศคู่ค้าหลังจากวันที่ 9 ก.ค. 2568 อันเป็นเส้นตายที่ทรัมป์กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลสหรัฐจะมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าใด ภายใน 1-2 สัปดาห์ ก่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ (ในวันที่ 9 ก.ค. ไม่ใช้เส้นตายแบบเฉพาะเจาะจง อาจมีการบังคับใช้มาตรการภาษีก่อนหรือหลังจากนั้นก็ได้) ซึ่งอัตราการเรียกเก็บ สหรัฐจะพิจารณาจากท่าทีของประเทศนั้น ๆ ว่าสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้หรือไม่ หากสหรัฐอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบด้านดุลการค้า ที่ทรัมป์มองว่าประเทศนั้นแข็งข้อ ไม่ยอมโอนอ่อน ก็มีโอกาสที่อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับที่สูงกว่าที่ทรัมป์ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และอาจสูงสุด 50%
 
โดยเมื่อพิจารณาบรรดาฝั่งประเทศในเอเชีย พบว่ายังคงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะกับทางประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากวันอังคารที่ผ่านมา ทรัมป์ได้มีการขู่ขึ้นภาษีในอัตรา 30-35% จากสาเหตุที่ทรัมป์มองว่าญี่ปุ่นเอาเปรียบสหรัฐมาโดยตลอด (ขาดดุลกับญี่ปุ่น 40 ปี) และญี่ปุ่นยังคงไม่ยอมนำเข้าข้าวและรถยนต์จากสหรัฐในสัดส่วนที่มากพอ เพื่อทำให้การค้าระหว่างสองประเทศสมดุลกัน
 
ขณะที่เกาหลีใต้ คาดว่าจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเจรจาขอขยายระยะเวลาการขึ้นภาษีได้ ส่วนอินเดีย ก็ดูเหมือนว่าข้อตกลงทางการค้าจะเป็นรูปแบบที่แตกต่างออกไป เช่น ภาษีเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะมีขึ้น และการเปิดตลาดสำหรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมจากสหรัฐ สอดคล้องไปกับทิศทางที่นักวิเคราะห์จากสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย (ASPI) ให้ความคิดเห็นว่า เวียดนาม, อินเดีย และไต้หวัน ยังคงเป็นประเทศที่มีแนวโน้มดีสำหรับข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐ
 
อย่างไรก็ตาม แม้ทรัมป์จะมีการประกาศว่าจะไม่ผ่อนผันการระงับขึ้นภาษี แต่ทางด้านนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่กล่าวถึงการดำเนินการของรัฐบาลสหรัฐว่ามีกรอบการสรุปข้อตกลงการค้ากับประเทศต่าง ๆ ภายในวันแรงงานแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ก.ย. นี้ โดยได้ระบุว่าตอนนี้มีการหารือกับประเทศคู่ค้าอยู่ 18 ราย แปลได้ว่า ในหลาย ๆ ประเทศที่เข้ามาขอเจรจากับสหรัฐ อาจได้รับการขยายระยะเวลาการระงับอัตราภาษีที่สูงขึ้นชั่วคราว หรือไม่ก็อาจมีบางประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงจริงหลังวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งในแต่ละประเทศจะได้ดีลไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทรัมป์เอง ตามที่ทรัมป์ได้กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า เขาอาจจะขยายเส้นตาย หรือทำให้มันสั้นลงก็ได้เช่นกัน
 
ความสุ่มเสี่ยงของการบังคับใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐที่มีความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ จึงส่งผลต่ออารมณ์ของตลาด โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ (2 ก.ค. 2568) อย่างดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่น ที่ทางสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ตลาดปิดที่ระดับ 39,762.48 จุด ลดลง 223.85 จุด หรือ -0.56% และขณะช่วงหนึ่งของวันมีการร่วงลงกว่า 500 จุดเลยทีเดียว ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดเช้านี้ (2 ก.ค.68) เวลา 12.30 น. ดัชนีปิดอยู่ที่ 1,105.42 จุด ปรับตัวลดลง 4.59 จุด เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยเข้ามาหนุน และยังรอผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐ แม้ช่วงท้ายตลาดจะมีแรงซื้อเข้ามาบ้างทำให้ดัชนีสามารถยืนในแดนบวกได้ก็ตาม ( บวก 5.68 จุด ดัชนีปิดที่ 1,115.69 จุด)

LastUpdate 02/07/2568 20:11:29 โดย : Admin
06-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 6, 2025, 2:23 am