
ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนเช่นนี้ ผู้ประกอบการต้องเริ่มมองหาวิธีบริหารความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจมีความเสถียรมากที่สุด เพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง finbiz by ttb จึงแนะให้หันมามองสกุลเงินท้องถิ่นที่จะมีส่วนช่วยลดความผันผวนในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “ภาษากลาง” ของระบบการค้าโลก ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นในระบบการเงินระหว่างประเทศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแส De-Dollarization หรือการลดการพึ่งพาดอลลาร์ได้เริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากแรงผลักภายในและปัจจัยจากภายนอก เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างความหลากหลายในระบบการเงินของตนเอง การเปลี่ยนแปลงนี้เปิดโอกาสให้สกุลเงินอื่น ๆ เช่น ยูโร (EUR) และปอนด์สเตอริง (GBP) ได้มีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายและความยืดหยุ่นในระบบการเงินโลก
นอกจากนี้ การลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐยังช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถจัดการกับความเสี่ยงทางการเงินได้ดีขึ้น และสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะเดียวกันหลายประเทศในทวีปเอเชีย ก็มีการสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่น ประกอบกับการที่จีนเดินเกมรุกด้วยการผลักดันให้หยวนจีน (CNY) ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักในธุรกิจระหว่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของระบบการเงินโลกที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในระยะยาว
จากข้อมูลข้างต้น ดอลลาร์สหรัฐยังคงครองตำแหน่งสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 42.0% ในเดือน มิ.ย. ปี 2023 เป็น 47.08% ในเดือนมิ.ย. ปี 2024 ขณะที่หยวนจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 2.77% เป็น 4.61% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการที่หยวนจีนแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 4 แทนที่เยนญี่ปุ่น เมื่อดูที่ตัวเลขอาจจะดูไม่มาก แต่ความเป็นจริงคือการเติบโตเกือบเท่าตัวของหยวนจีนในการใช้เป็นสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และเมื่อมาพิจารณาความผันผวนในช่วงปี 2023– 2025 ดอลลาร์สหรัฐ ก็มีความผันผวนถึง 9% ในขณะที่สกุลเงินท้องถิ่นในเอเชียไม่ว่าจะหยวนจีน บาทไทย หรือเยนญี่ปุ่น มีความผันผวนเพียง 3% เท่านั้น
ข่าวเด่น