สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 9 เดือน แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนท้ายสัปดาห์ หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ Sentiment ของค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากหลายเรื่อง ทั้งความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการคลังที่เปราะบางมากขึ้นของสหรัฐฯ โอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับดีลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับคู่ค้าสำคัญ ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 9 เดือนที่ 32.305 บาทต่อดอลลาร์ฯ (นับตั้งแต่ต้นต.ค. 2567) ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วน หลังเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด และทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดจะยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในการประชุม FOMC 29-30 ก.ค. นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่า ขณะที่ การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอีกหลายประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเส้นตาย 9 ก.ค. นี้
• ในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-4 ก.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,742 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,920 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,907 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 13 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 7-11 ก.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย.
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของจีน รวมถึงสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ แต่ลดช่วงบวกลงช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนรอติดตามประเด็นนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยบวกจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมถึงแรงซื้อหุ้นบริษัทสื่อสารรายใหญ่ (หลังจบการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่) และหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งตามทิศทางหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงในเวลาต่อมาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งช่วยคลายความกังวลบางส่วนต่อการยกระดับความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุม นอกจากนี้ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความคาดหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับกำหนดการเดินทางไปสหรัฐฯ ของทีมเจรจาไทย
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ตามแรงขายเพื่อปรับลดความเสี่ยงของนักลงทุนระหว่างรอติดตามประเด็นมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งใกล้สิ้นสุดการผ่อนผันในวันที่ 9 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะข้อสรุปของการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ ประกอบกับต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
• ในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,119.94 จุด เพิ่มขึ้น 3.47% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 37,322.61 ล้านบาท ลดลง 18.41% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.02% มาปิดที่ระดับ 234.54 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (7-11 ก.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,145 และ 1,160 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของไทย ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะครบกำหนดระยะผ่อนผันในวันที่ 9 ก.ค. สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. บันทึกการประชุมเฟด (17-18 มิ.ย.) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของจีน
ข่าวเด่น