เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ทรัมป์ต่อเวลาเส้นตายถึง 1 ส.ค. ไทยเตรียมเสนอลดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ หลีกเลี่ยงโดนเก็บภาษี 36%


จ่าหน้าซองมายังประเทศไทยแล้ว สำหรับจดหมายเรียกเก็บภาษีของทรัมป์ ที่ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงถึง 36% ดังเดิม หลังจากที่การเดินทางเข้าไปเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐก่อนหน้านั้นไม่เป็นผล ทำให้ไทยต้องจัดทำข้อเสนอชุดใหม่ เพื่อต่อรองอัตราภาษีให้เหลือต่ำสุด 10 - 20% ด้วยการเสนอลดการเกินดุล และเปิดตลาดซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นโดยลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ก่อนเส้นตายการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวจะมีผล 1 ส.ค. 2568 นี้
 
8 ก.ค. 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้มีการเผยแพร่จดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจาก 14 ประเทศ โดยขยับเส้นตายการบังคับใช้ภาษีออกไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. 2568 ซึ่งประเทศไทยจะโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราเดิมที่สูงถึง 36% หลังจากที่ทางรัฐบาลไทยได้เข้าไปเจรจากับ จามีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ก่อนหน้านี้แต่ยังไม่สามารถปิดดีลได้ เพราะทางเกรียร์เปิดเผยว่า สหรัฐให้ความสำคัญต่อความสมดุลของความสัมพันธ์ทางการค้า และการส่งออกสินค้าสหรัฐไปยังตลาดใหม่ ตามนโยบาย America First เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ อย่างการลดการขาดดุลทางการค้า และปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศตัวเอง
 
โดย ไทย จัดว่าอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดในโลก (ปัจจุบัน ไทยมีการเกินดุลสหรัฐอยู่ที่ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้หากโดนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าด้วยอัตราสูงถึง 36% จริง ก็จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกสินค้าเป็นหลัก โดยทางกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐเป็นตลาดส่งออกเบอร์หนึ่งของไทย หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ดังนั้นหนทางแก้เกมเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ จึงตกไปอยู่ที่การเปิดตลาดให้สินค้าจากสหรัฐเข้ามายังไทยมากขึ้น และลดภาษีนำเข้า 0% เพื่อสร้างดุลทางการค้าระหว่างสองฝ่าย
 
โดยทางนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีมเจรจาภาษี ส่งข้อเสนอใหม่ให้สหรัฐพิจารณาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2568 ด้วยการเสนอว่าไทยจะเปิดตลาดสำหรับสินค้าจากสหรัฐ ทั้งเพิ่มการซื้อสินค้าในหมวดสินค้าเกษตร พลังงาน(โดยเฉพาะก๊าซ LNG และก๊าซอีเทน) รวมถึงเครื่องบินโบอิ้งในจำนวนสูงขึ้น เพื่อเป้าหมายในการลดการเกินดุลการค้าต่อสหรัฐ 70% ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศได้ภายใน 7 - 8 ปี
 
ขณะเดียวกันยังมีความกังวลเกี่ยวกับสินค้าภาคการเกษตร ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไทย เพราะแม้ทรัมป์จะมีจุดยืนหลักที่ต้องการฟื้นฟูให้สหรัฐกลับมาเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมการผลิตที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตามแนวคิด Make America Great Again ไม่ใช่ประเทศแห่งการเกษตร ซึ่งขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของประเทศมหาอำนาจ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของสหรัฐถือได้ว่ามีศักยภาพสูง และสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้ในปริมาณมาก ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐก็ยังต้องการตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าว ดังนั้นหากไทยรับซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เช่น ข้าวโพด หรือข้าวสาลี ที่มีราคาถูก (เพราะผลิตได้มากต้นทุนถูก และไทยลดอัตราภาษีนำเข้าเป็น 0%) เพื่อลดการเกินดุล อาจส่งผลกระทบกับเกษตรกร และภาคปศุสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจำนวน 20 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง แต่กลับกันก็อาจทำให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์ ทำต้นทุนได้ดีขึ้น สร้างกำไรได้มากขึ้น และทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์มีการเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก
 
ซึ่งทางรัฐบาลโดยทีมเจรจาดังกล่าว ชี้แจงว่าจะมีการปกป้องเศรษฐกิจไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐ ซึ่งการเปิดตลาดให้กับสินค้าสหรัฐ ฝ่ายไทยจะเน้นนำเข้าสินค้าในกลุ่มที่ยังขาดแคลนหรือผลิตไม่ได้ในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย และจะสร้างข้อตกลงในลักษณะที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจจะไม่มีการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในทุกสินค้าทุกรายการ และการต่อรองอัตราภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐ คาดว่าจะให้เหลือต่ำสุดในกรอบ 10 - 20%
 
นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ มีการวางแผนเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเจรจาภาษีกับสหรัฐในหลายแนวทาง โดยหนึ่งในนั้น คือ กองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากที่รัฐบาลกันเงินสำรองไว้ราว 10,000 ล้านบาท จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ค. 2568 เวลา : 10:24:32
09-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 9, 2025, 5:54 pm