วิเคราะห์บทบาทสำคัญของคริปโตในนโยบายการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งเสริมศักยภาพของคริปโตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
พร้อมมองโอกาสที่จะช่วยเสริมแกร่งให้ประเทศไทยในตลาดโลก
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ นับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนทั่วโลก โดยเป็นครั้งแรกที่สกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจจนกลายเป็นหนึ่งในประเด็นของเวทีการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่างเปิดเผยทัศนะที่ชัดเจนต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัลในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
Public Citizen องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization) เปิดเผยว่า เงินสนับสนุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกือบครึ่งหนึ่งมาจากภาคสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการของอุตสาหกรรมในการผลักดันให้เกิดความชัดเจนด้านกฎระเบียบ ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งเดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้าย ความสนใจของสาธารณชนจึงหันไปที่นโยบายของผู้สมัครแต่ละคน ที่อาจส่งผลต่อทิศทางของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต โดย โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้สมัครที่แสดงจุดยืนในการสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน ในขณะที่ กมลา แฮร์ริส ที่ถึงแม้ว่าจะสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลเช่นกัน แต่ยังคงเน้นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุนเป็นหลัก
นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไบแนนซ์ ทีเอช บาย กัลฟ์ ไบแนนซ์ (BINANCE TH) กล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือเก็งกำไรสำหรับนักลงทุนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนไม่สามารถเพิกเฉยได้ นี่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังก้าวข้ามเข้าสู่การยอมรับที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในระดับสากล”
ทรัมป์ ปะทะ แฮร์ริส: ศึกนโยบายคริปโตที่มีอนาคตทางเศรษฐกิจเป็นเดิมพัน
โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เคยมีข้อกังขาในเรื่องนี้ ปัจจุบันเขากลับหันมาให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง พร้อมประกาศตนเป็น “ประธานาธิบดีแห่งสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าหากชนะการเลือกตั้ง เขาจะจัดตั้งสภาที่ปรึกษาบิทคอยน์และคริปโต รวมถึงสนับสนุนการขุดบิทคอยน์ พร้อมทั้งการลดกฎเกณฑ์ข้อบังคับ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนและธุรกิจ ทั้งนี้ การสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลของทรัมป์ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในเชิงปฏิบัติอีกด้วย เห็นได้จากการที่สมาชิกครอบครัวของทรัมป์ได้ริเริ่มโครงการ DeFi ในชื่อ "World Liberty Financial" ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ทรัมป์มีต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง
ทางด้าน กมลา แฮร์ริส เพิ่งเริ่มต้นยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชน โดยจากวาระการหาเสียงล่าสุด แฮร์ริสได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริมนวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มงวด ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีอย่างยิ่งสำหรับวงการคริปโต
“การที่สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นหัวข้อสำคัญในการประชันวิสัยทัศน์ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับที่เหมาะสม ไบแนนซ์ ทีเอช ในฐานะผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เราเชื่อมั่นว่าการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยั่งยืน โปร่งใส และแข็งแกร่ง” นายนิรันดร์ กล่าวเสริม
เมื่อใดสหรัฐฯ เปลี่ยน เมื่อนั้นนโยบายคริปโตทั่วโลกขยับตาม
ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐฯ จึงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับสากล โดยเศรษฐศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ มักส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดคริปโตทั่วโลก รวมถึงยังมีอิทธิพลเหนือความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการตัดสินใจด้านกฎเกณฑ์ในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติ Spot ETFs โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการยอมรับและเสริมสร้างความชอบธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ในทำนองเดียวกันนั้น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่าง การปรับอัตราดอกเบี้ย ที่มีผลต่อกระแสเงินทุนและการเคลื่อนไหวของตลาด ทั้งในตลาดการเงินแบบดั้งเดิม และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การเลือกตั้งรัฐสภาของสหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายเกี่ยวกับคริปโตในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยทัศนคติของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลอาจเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันหรือชะลอการออกกฎหมายที่สำคัญ เช่น การร่างกฎหมาย FIT21 ที่มุ่งเน้นสร้างความชัดเจนในด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมคริปโต
ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายด้านคริปโตของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคริปโตทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพราะทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังกลายเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ ดังนั้น คำถามที่สำคัญจริงๆ อาจไม่ใช่ว่า ‘สหรัฐฯ จะเข้ามาควบคุมคริปโตหรือไม่’ แต่แท้จริงแล้วคือ ‘สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับคริปโตอย่างไรเพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกต่างหาก
ทั้งนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการคุ้มครองผู้ใช้ รัฐบาลทั่วโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับการควบคุมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบระดับโลกนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ในการนำอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลก้าวไปข้างหน้า ผ่านการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลระดับภูมิภาค
แม้ว่าในปัจจุบัน สหรัฐฯ เองจะยังคงมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวก จากการยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐ ภาคสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมคริปโต
“ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร ในระยะยาวอุตสาหกรรมคริปโตจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป จากการที่ได้ถูกนำไปใช้งานในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต” นายนิรันดร์ เน้นย้ำเพิ่มเติม
นายนิรันดร์ กล่าวสรุปว่า “ประเทศไทยมีจุดยืนพิเศษที่สามารถได้รับประโยชน์จากการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก โดยในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ ไบแนนซ์ ทีเอช จะมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ปลอดภัย รวมถึงนวัตกรรมอันล้ำสมัย มาสู่ประเทศไทย ผ่านด้วยกลยุทธ์การดำเนินงานที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์ โดยเรามุ่งมั่นที่จะมีบทบาทในการสร้างการยอมรับในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแพร่หลายและส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงิน เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลระดับโลกต่อไป”
ข่าวเด่น