เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SMEs ไทยปรับตัวอย่างไร ภายใต้ความเปราะบาง


 

ธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ที่แม้รายได้ SMEs จะมีสัดส่วนเพียง 18.26% จากรายได้ภาคธุรกิจทั้งหมด แต่ในมิติของจำนวนผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 99.53% หรือ 3.19 ล้านราย เป็นธุรกิจ SMEs รวมถึงเป็นแหล่งการจ้างงานมากกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน นอกจากนี้สถานที่ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่กระจายตัวไปตามพื้นที่ภูมิภาค ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs นอกจากเป็นแหล่งรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ ยังเป็นข้อต่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากศูนย์กลางสู่พื้นที่ภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี มีข้อมูลสถิติได้บ่งชี้ถึงความเปราะบางในการประกอบธุรกิจของ SMEs โดยอัตราการอยู่รอดจากการประกอบธุรกิจในช่วง 3 ปีแรกเฉลี่ยอยู่เพียง 20% ซึ่งเป็นเรื่องที่ SMEs ควรต้องเร่งรับรู้และเตรียมปรับตัวรับมือกับปัญหาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป    

 
ttb analytics ชี้ 3 ประเด็นสะท้อนความเปราะบางของ SMEs 
 
ประการแรก : รายได้โตต่ำและขาดกำไรสะสม เนื่องจากธุรกิจ SMEs กลุ่มที่รายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี (SMEs รายเล็ก) มีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) เพียง 0.15% ของรายได้ ซึ่งกำไรที่ต่ำย่อมส่งผลต่อกำไรสะสมที่ไม่พอเพียงในการใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพรักษาสถานะการแข่งขัน ขณะที่กลุ่ม SMEs ที่รายได้สูงกว่า 30 ล้านบาท (SMEs รายกลางขึ้นไป) มีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) เพียง 3.1% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งสัดส่วนกำไรที่สูงกว่าบนฐานรายได้ที่มากย่อมส่งผลต่อเงินทุนจากกำไรสะสมที่สามารถใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs รายเล็กยังมีการเติบโตของรายได้ที่ค่อนข้างต่ำด้วยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ 2.8% เมื่อเทียบกับกลุ่ม SMEs รายกลางขึ้นไปที่เติบโต 3.7% บนฐานของรายได้สุทธิที่สูงกว่า

ประการที่สอง : ต้นทุนต่อหน่วยสูง ในการดำเนินธุรกิจนั้น ต้นทุนคงที่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นต้นทุนปรับลดได้ยาก และต้นทุนคงที่ต่อหน่วยมีความผันผวนตามปริมาณขายซึ่งอาจส่งผลต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนค่าจ้างก็มีนัยของต้นทุนคงที่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการจ้างงานไม่สามารถเลิกจ้างได้ทันที รวมถึงจำนวนพนักงานที่ต้องพร้อมรองรับสำหรับช่วงที่มีธุรกรรมหรือการใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs รายเล็กที่ฐานลูกค้าจำกัดมีต้นทุนในการขายและบริหารสูงถึง 25.3% ของรายได้ ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่ม SMEs รายกลางขึ้นไปที่มีต้นทุนดังกล่าวเพียง 12.9% ของรายได้ จากฐานลูกค้าที่ใหญ่และมั่นคงกว่า

ประการที่สาม : อำนาจต่อรองต่ำ  โดยปกติแล้ว SMEs รายเล็กมักมีระยะเวลาต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงกว่า จากอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ SMEs รายกลางขึ้นไป ทำให้จำเป็นต้องสั่งสินค้าครั้งละจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนสินค้าต่อหน่วย ส่งผลต่อเงินทุนที่ต้องสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าคงคลัง รวมถึงอำนาจต่อรองกับลูกค้าของกิจการที่ไม่สูง ทำให้จำเป็นต้องให้เครดิตการค้าที่ยาวขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า ธุรกิจ SMEs รายเล็กจึงต้องสำรองเงินทุนเพื่อหมุนเวียนเมื่อเทียบยอดขายสูงถึง 169 วัน ซึ่งสูงกว่า SMEs รายกลางขึ้นไปที่สำรองเงินทุนไว้ราว 90 วัน เหล่านี้อาจสะท้อนถึงภาระที่ต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอกที่ต้องมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 
 
ttb analytics มองเพื่อความยั่งยืน... SMEs จำเป็นต้องเปลี่ยน
 
จากความเปราะบาง 3 ประเด็นของ SMEs ขนาดเล็ก ประกอบด้วย กำไรต่ำ ต้นทุนต่อหน่วยสูง อำนาจต่อรองต่ำ  กอปรกับปัญหาที่ถาโถมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ภาระหนี้ครัวเรือนสูง และต้นทุนของธุรกิจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กดดันให้ SMEs มีโอกาสที่อัตราการอยู่รอดต่ำลงกว่าเดิม และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการช่วยเหลือผ่านการลดดอกเบี้ย แต่เป็นเพียงเพื่อช่วยบรรเทาภาระการเงินบางส่วน และไม่สามารถลดความเปราะบางที่มีอยู่ของธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการและการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของธุรกิจแต่ละราย 
 
ซึ่งการแก้ไขความเปราะบางของธุรกิจ SMEs ควรกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสม เพื่อช่วยการวางแผนธุรกิจ (Business Model) ที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกิจการ เช่น ช่องทางรายได้ (Revenue Streams) และ โครงสร้างทางต้นทุน (Cost Structure) ทั้งนี้ การทำการตลาดแต่ละกลุ่มที่ลักษณะเฉพาะของกลุ่มลูกค้ามีความต่างกัน และรูปแบบพฤติกรรมที่แตกต่าง การปรับ Position ของกิจการควรเป็นก้าวแรกที่ให้ความสำคัญ 
 
จาก Data Driven พื้นที่ตลาดของกลุ่มธุรกิจ SMEs แบ่งออกเป็น 4 ส่วน พบ SMEs ไทยต้องเร่งหาจุดยืนดังนี้
 
1. SMEs ส่วนใหญ่ต้องเร่งหาพื้นที่ตลาดที่เหมาะสม (Find Right Space) จากกลยุทธ์และกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชัดเจน พื้นที่ตลาดจึงมีความทับซ้อนและแข่งขันกันรุนแรง (Red Ocean) ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดที่น้อยลง เกิดการแข่งขันทางราคาที่ลดทอนพื้นที่กำไร และโมเดลทางธุรกิจจึงอาจทำได้ยากขึ้น เพราะหากกลุ่มลูกค้า (Customer Segments) ไม่ชัดเจนจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship) ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงช่องทางการสื่อสารและจำหน่าย (Channels) อาจไม่ตอบโจทย์ ในขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชัด ย่อมส่งผลต่อความไม่นิ่งของผลิตภัณฑ์ และทำให้ไม่สามารถสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการให้เกิดกับผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ (Value Proposition)  

2. SMEs ที่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนเน้นตลาดเฉพาะที่มีพื้นที่กำไรสูง (Go Niche) ด้วยจำนวนลูกค้าที่จำกัด ต้นทุนจึงเป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถยกระดับการทำการตลาดตามความประสงค์ (Bespoke Marketing) ที่สามารถสร้างพื้นที่กำไรสูงได้ และกลุ่มลูกค้าตลาดเฉพาะ (Niche Market) มักมีความเต็มใจจ่ายสูง (Willingness to Pay) ซึ่งเมื่อกำหนดกลุ่มลูกค้าได้แล้ว การตอบโจทย์เรื่องความสัมพันธ์กับลูกค้าและช่องทางจำหน่าย จึงสามารถเน้นเรื่องการบริการที่ประทับใจใกล้ชิด ซึ่งเมื่อลูกค้าและผลิตภัณฑ์มีความชัดเจน เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีเพื่อให้คุณค่าของสินค้าและบริการให้เกิดกับผู้บริโภค ตอบโจทย์กับลูกค้ากลุ่มที่ยอมจ่ายเพื่อความพิเศษบางอย่างให้มากที่สุด (Pay for Exclusivity) 

3. SMEs ที่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการทำการตลาดขนาดใหญ่ (Go Fast)  จะสามารถเร่งยอดขายเพื่อเพิ่มกำไรสุทธิและเป็นการลดต้นทุนคงที่ต่อหน่วยในเวลาเดียวกัน ด้วยการกำหนดและเน้นลูกค้ากลุ่มตลาดใหญ่ (Mass Market) ซึ่งมีลักษณะความต้องการในรูปแบบพื้นฐาน เช่น ราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ รวมถึงบริการที่รวดเร็ว ส่งผลให้บทบาทช่องทางการจำหน่ายต้องเป็นช่องทางออนไลน์ที่พื้นที่ทำการตลาดไม่มีข้อจำกัด รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยสินค้าที่ทดแทนง่าย อาจทำในรูปแบบกิจกรรมการให้ส่วนลด เพื่อเพิ่มอัตราการกลับมาใช้บริการซ้ำ (Repeat Customers) เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีเพื่อให้คุณค่าของสินค้าและบริการเกิดกับผู้บริโภค ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม Mass ที่ต้องการสินค้าที่รวดเร็ว ถูกต้อง บนราคาที่เหมาะสม
 
4. กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และสร้างพื้นที่ทำกำไร (Go Forward) ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีฐานลูกค้าที่มีความมั่นคง และเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง SMEs กลุ่มนี้ก็อาจไม่ต้องกังวลในการประกอบธุรกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวธุรกิจจำเป็นต้องใช้กำไรสะสมเพื่อพัฒนาธุรกิจ โดยมีการเตรียมพร้อมเพื่อยกระดับพัฒนาตัวเอง สร้างพื้นที่ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในตลาด SMEs หรือตลาดรายใหญ่ที่น่าจะเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่ยากขึ้นกว่าเดิม
 
กล่าวโดยสรุป ปีนี้เป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับ SMEs เพื่อเตรียมรับมือ พร้อมก้าวออกจาก Comfort Zone  และหาพื้นที่เหมาะสม (Find Right Place) ต้อง “ปรับเปลี่ยน” เพื่อ “ไปต่อ” อีกระดับ ด้วยการขยายธุรกิจให้ข้ามผ่านระดับรายได้ 30 ล้านบาทต่อปี เพิ่มโอกาสอยู่รอดอย่างยั่งยืน จากการลดปัญหาเชิงโครงสร้างหลัก 3 ประการ กำไรต่ำ ต้นทุนต่อหน่วยสูง อำนาจต่อรองต่ำ ผ่านกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของธุรกิจแต่ละราย เช่น ขยับเข้าหาตลาดเฉพาะที่มีกำไรสูง (Go Niche) หรือเร่งสร้างรายได้ในตลาดใหญ่ (Go Mass) และเมื่อ SMEs มีความเข้มแข็งขึ้น กลุ่มที่เน้นกำไรก็จะเริ่มมีฐานลูกค้าจนเพิ่มรายได้ และกลุ่มเพิ่มรายได้อาจทำ Segment Marketing เพื่อเพิ่มกำไร จนส่งผลให้ในระยะถัดไป SMEs เหล่านี้เข้มแข็งก้าวผ่านความเปราะบาง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นได้ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ SMEs ก้าวไปข้างหน้า (Go Forward) สำหรับพื้นที่ตลาดที่ใหญ่และท้าทายเพิ่มมากขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ค. 2567 เวลา : 15:51:56
18-05-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (17 พ.ค.67) บวก 4.96 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,382.68 จุด

2. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (17 พ.ค.67) บวก 1.61 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,379.33 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,370 เหรียญ และมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,400 เหรียญ

4. ทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $9.40 เหตุดอลล์แข็งกดดันตลาด

5. ดาวโจนส์ปิดลบ 38.62 จุด หลังทำสถิติพุ่งเหนือ 40,000 จุดครั้งแรก

6. ตลาดหุ้นไทย เปิดเช้านี้ ดัชนี SET อยู่ที่ 1,379.20 จุด ปรับตัวขึ้น1.48 จุด รอจับตาจีดีพีไทยสัปดาห์หน้า

7. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.15-36.40 บาท/ดอลลาร์

8. พยากรณ์อากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เตือนทั่วไทยมีฝน 60-70% กรุงเทพและปริมณฑลอากาศร้อนในตอนกลางวัน มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60

9. ราคาทองวันนี้ (17 พ.ค. 67) "คงที่" ทองรูปพรรณบาทละ 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (17 พ.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยปิด (16 พ.ค.67) บวก 7.28 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,377.72 จุด

12. ประกาศ กปน.: 20 พ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราชพฤกษ์

13. ประกาศ กปน.: 23 พ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบน้ำดิบถนนประชาธิปก

14. ประกาศ กปน.: 23 พ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบน้ำดิบบางซื่อ

15. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,360 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ2,420 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 18, 2024, 10:58 pm