เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ "เศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์อาจส่งผลให้กลุ่มธนาคารกลางชะลอการปรับดอกเบี้ย ส่วนเศรษฐกิจจีนดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค"


สหรัฐฯ

ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและความไม่แน่นอนจากนโยบายเศรษฐกิจอาจส่งผลให้เฟดชะลอการปรับลดดอกเบี้ย ประธานเฟด เจอโรม พาวเวล ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง แต่เงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมาย 2% ทำให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยและสามารถตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยพาวเวลยังมองว่าเงินเฟ้อจะทยอยลดลงสู่เป้าหมายในระยะยาว นอกจากนี้ เฟดจะประเมินผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลใหม่ก่อนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.6% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.3% ขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% MoM สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 0.3%

 
แม้ว่าชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์และการครองอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกันช่วยสร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่นโยบายต่างๆ รวมถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอาจส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีพบว่าหากนโยบายการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ระดับ 60% และสินค้าจากประเทศอื่นที่ 20% จะกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ -0.97% จากกรณีฐาน ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงยังไม่น่ารีบร้อนในการเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรอรายละเอียดและประเมินผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ โดยหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอาจกระทบเส้นทางการปรับดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าที่อาจปรับลดน้อยหรือช้ากว่าตลาดคาดได้

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเติบโตของค่าจ้าง และการท่องเที่ยวช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่การเติบโตยังคงถูกจำกัดจากกิจกรรมการผลิตและการส่งออกที่ซบเซา เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 0.2% QoQ ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันสองไตรมาส แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตั้งเป้าใช้งบประมาณสูงถึง 10 ล้านล้านเยน (6.5 หมื่นล้านดอลลาร์) ภายในปีงบประมาณ 2573 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เตรียมเข้าพบตัวแทนจากภาคธุรกิจและสหภาพแรงงานภายในเดือนนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

ญี่ปุ่น
 
แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเผชิญความท้าทายจากภาคการผลิตที่ซบเซาและการชะลอตัวของส่งออก อย่างไรก็ตาม จากแรงหนุนของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวที่เติบโต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรวมถึงส่งเสริมการลงทุน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นแบบค่อยเป็นค่อยไปในปีหน้า ทั้งนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มโตในระดับต่ำ รวมถึง ประเด็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจใช้แนวทาง wait-and-see stance โดยมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568

มาตรการกระตุ้นล่าสุดช่วยหนุนยอดค้าปลีกในจีน แต่การผลิต การลงทุน และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังฟื้นตัวช้า ในเดือนตุลาคม ยอดค้าปลีกเติบโตในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (+4.8% YoY +3.2% ในเดือนกันยายน) แต่การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจอื่นๆยังไม่ชัดเจน โดยการผลิตภาคอุตสาหกกรรมชะลอลงเล็กน้อย (+5.3% vs +5.4%) ราคาบ้านใหม่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 แม้จะมีสัญญาณกระเตื้องเล็กน้อย (-5.9 % จาก -5.8%) ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง (-10.3% เทียบกับ -10.1% ในช่วง 9 เดือนแรก) และการเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงทรงตัว (+3.4%)

 
จีน
 
แม้จีนออกมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน เนื่องจาก (i) การบริโภคอาจเร่งขึ้นระยะสั้นจากมาตรการอุดหนุนและมีวันหยุดต่อเนื่องรวมทั้งเทศกาลคนโสด ขณะที่ความมั่งคั่งของครัวเรือนกว่า 70% ที่ผูกติดอยู่กับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว (ii) มาตรการหนุนการลงทุนและภาคอสังหาฯยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะกว่าจะเห็นผลบวกชัดเจน เนื่องจากมีอุปทานล้นตลาดอยู่มาก และ (iii) มาตรการส่วนใหญ่เน้นบรรเทาปัญหาในอดีตมากกว่ากระตุ้นการใช้จ่ายในปัจจุบัน เช่น โครงการมูลค่า 10 ล้านล้านหยวนเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และมาตรการภาษีหนุนธุรกรรมซื้อขายบ้านและที่ดิน นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้ามีแนวโน้มกดดันภาคส่งออกซึ่งเคยเป็นภาคที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา
 
 
เศรษฐกิจไทย
วิจัยกรุงศรีเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ หลังตัวเลข GDP 3Q67 ออกมาดีกว่าคาด และมีสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นที่ขยับดีขึ้น

GDP ไตรมาส 3 ปี 2567 เติบโตดีกว่าคาดที่ 3.0% YoY และ 1.2% QoQ ทั้งปีมีแนวโน้มสูงกว่าที่วิจัยกรุงศรีเคยคาดไว้ที่ 2.4% สภาพัฒน์ฯ รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัว 3.0% (นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 2.4% และ 2.3% YoY ตามลำดับ) เทียบกับขยายตัวที่ 2.2% ใน 2Q67 โดยมีปัจจัยหนุนจาก (i) การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ (+25.9%) ที่กลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (ii) การส่งออกสินค้า (+8.3%) ฟื้นตัวจากความต้องการในบางกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า (iii) การส่งออกบริการ (+21.9%) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น, และ (iv) การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว (+3.4%) แม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง (-2.5%) ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัวที่ 2.6% (เดิมคาด 2.5%) และคาดการณ์ปี 2568 เติบโตที่ 2.3-3.3%

สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ใน 3Q67 ที่ปรับผลของฤดูกาลออกขยายตัวที่ 1.2% QoQ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดที่ 0.8% และ 0.7% ตามลำดับ และสูงกว่า 0.8% ใน 2Q67 สำหรับ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 GDP เติบโตอยู่ที่ 2.3% YoY ล่าสุดวิจัยกรุงศรีเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขึ้นจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 2.4% โดยประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจาก (i) แรงส่งการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายต่อเนื่อง (ii) ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น หนุนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน (ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 28.8 ล้านคน) (iii) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกลุ่มเปราะบาง และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งทางการกำลังเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อใช้ในปลายปีนี้จนถึงในปีหน้า  และ (iv) ผลของฐานต่ำในปีก่อน โดย GDP ใน 4Q66 เติบโตเพียง +1.7% YoY เนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
 

 
ความเชื่อมั่นมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายของปี ด้านรัฐบาลเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเพิ่มเติม ในเดือนตุลาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สู่ระดับ 56.0 จากเดือนก่อนที่ 55.3 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมกลับมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89.1 จาก 87.1 ในเดือนกันยายน โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลายลง  มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง มาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้หลังจากธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25%

แม้ความเชื่อมั่นจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่การฟื้นตัวยังมีเปราะบางสะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5 (ปี 2562) ขณะที่โมเมนตัมของการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น ซึ่งล่าสุดรัฐบาลระบุเตรียมพิจารณาจะแจกเงิน 10,000 บาท สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งกดดันกำลังซื้อของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของบางอุตสาหกรรมที่ลดลง และการลงทุนที่ยังอยู่ระดับต่ำ นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกรวมถึงไทย 
 
 

 


LastUpdate 19/11/2567 14:04:34 โดย : Admin
21-11-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (21 พ.ย.67) ลบ 22.02 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,440.46 จุด

2. ประกาศ กปน.: 26 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเพชรเกษม

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (21 พ.ย.67) ลบ 18.69 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,443.79 จุด

4. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับ 2,630 เหรียญ และมีแนวต้านที่ 2,675 เหรียญ

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) พุ่งขึ้น 20.70 เหรียญ เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนแรงซื้อทอง

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) บวก 139.53 จุด นักลงทุนจับตาผลประกอบการ Nvidia

7. มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ-ภาคอีสาน อากาศเย็นตอนเช้า "ยอดดอย" อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศา "ยอดภู" 13 องศา ภาคใต้ ฝน 60-70%

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (21 พ.ย. 67) ลบ 16.23 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,446.25 จุด

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (21 พ.ย. 67) พุ่งขึ้น 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 44,000 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 พ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์

11. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

12. ตลาดหุ้นปิด (20 พ.ย.67) บวก 2.37 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,462.48 จุด

13. ประกาศ กปน.: 25 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (20 พ.ย.67) ลบ 3.23 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,456.88 จุด

15. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,620 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,655 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 21, 2024, 8:31 pm