หุ้นทอง
"ความหลากหลายทางชีวภาพ" โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ (ตอนที่ 2)


บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญ โดยวิกฤตนี้เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับธุรกิจ สำหรับตอนที่สอง จะเป็นตอนจบของบทความนี้ ที่จะนำเสนอภาพของความพยายามจากทั่วโลก ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่ธุรกิจควรตระหนักและดำเนินการตอบสนองอย่างเหมาะสม

การตอบสนองต่อวิกฤติจากทั่วโลก

เพื่อรับมือกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประชาคมโลกได้ร่วมกันจัดทำและรับรอง "กรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หรือ Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework (KM-GBF)” ขึ้นในการจัดประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) สมัยที่ 15 (COP 15)[1] เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยกรอบงานนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก และเพื่อถ่ายทอดหรือแปลงไปสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ โดยประเทศไทยที่เป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวก็ได้ลงนามในอนุสัญญา CBD[2] ซึ่งจะต้องนำกรอบงานนี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศด้วย

นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ[3] เช่น สหภาพยุโรปออกกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า[4] (Deforestation-free Products) เพื่อห้ามไม่ให้บริษัทในสหภาพยุโรปรับซื้อสินค้าที่มีการตัดไม้ทำลายป่า และขยายไปยังธุรกิจการเงินเพื่อป้องกันการสนับสนุนการทำลายป่า การกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ลงทุน[5] รายงานด้านความยั่งยืนตามเกณฑ์ Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR)[6] ที่ครอบคลุมการดำเนินงานหรือกิจกรรมของธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ออกกฎหมาย the Energy-Climate Law[7] เพื่อให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย หลังจากที่ได้ลงนามในอนุสัญญา CBD แล้ว ปัจจุบันภาครัฐโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) ฉบับที่ 5 รวมทั้งจัดทำเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (National Targets) ให้สอดคล้องกับ KM-GBF ด้วย โดยในบางเป้าหมายมีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะตลาดทุนไทย อาทิ การติดตามการดำเนินงานของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน การขจัดแรงจูงใจและเงินอุดหนุนที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน

มาตรฐานการรายงานความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากความร่วมมือในระดับนานาชาติในการส่งเสริมและผลักดันการปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้มีการพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินและรายงานผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสากล อาทิ ข้อแนะนำของ The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD Recommendations) ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิธีจัดการกับผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ตลอดจนช่วยให้ธุรกิจสามารถบูรณาการประเด็นด้านธรรมชาติเข้าผนวกในการตัดสินใจของธุรกิจ และดำเนินการได้สอดคล้องกับเป้าหมายของกรอบ KM-GBF[8]

The Global Reporting Initiative (GRI) ได้ออกมาตรฐาน GRI 101: Biodiversity 2024 เมื่อต้นปี 2567 เพื่อเป็นมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ และวิธีการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น[9] ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีทั้งข้อแนะนำและมาตรฐานการรายงานตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว สองหน่วยงาน คือ TNFD และ GRI ได้ร่วมมือกันจัดทำคู่มือเพื่อเชื่อมโยงการเปิดเผยข้อมูล[10] เพื่อช่วยให้ผู้รายงานตาม GRI สามารถจัดทำรายงานให้สอดคล้องกับข้อแนะนำของ TNFD ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ที่ใช้ข้อแนะนำของ TNFD สามารถเปิดเผยข้อมูลได้สอดคล้องตามมาตรฐาน GRI รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรายงานซ้ำซ้อนด้วย โดยทั้งสองหน่วยงานได้เผยแพร่คู่มือดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ The International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ The IFRS Foundation ได้เปิดเผยแผนงาน[11] สำหรับ ปี 2567 - 2569 ว่าอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานในประเด็นความเสี่ยงและโอกาสด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และบริการระบบนิเวศ (Biodiversity, ecosystems and ecosystem services: “BEES”)  ซึ่งความพยายามในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษา BEES สามารถช่วยจัดการความเสี่ยงหรือสร้างโอกาสที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของบริษัทตามที่ระบุไว้ในมาตรฐาน IFRS S1[12]  ทั้งนี้ การศึกษานี้จะครอบคลุมถึงการพิจารณาความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานการรายงานในเรื่อง BEES นี้ด้วย

ตลาดทุนไทยกับความหลากหลายทางชีวภาพ

ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้ธุรกิจในตลาดทุนไทยผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เอาไว้และการมีธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดจนการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้ผู้ลงทุน คู่ค้า ลูกค้า ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders) มีข้อมูลทั้งด้าน ESG และ SDGs ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศตลาดทุนที่ยั่งยืน ซึ่งการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีความครอบคลุมเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเห็นได้จากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ที่มีแนวปฏิบัติที่ระบุถึงการที่คณะกรรมการบริษัทควรดูแลให้มีกลไกเพื่อทำให้มั่นใจว่ากิจการจะประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยป้องกัน ลด จัดการ และดูแลให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่สร้างหรือก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมการดูแลและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ[13]  และในคู่มือแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี / รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ก็ระบุถึงการเปิดเผยข้อมูลการจัดการด?านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม และการจัดการผลกระทบต่อผู้มีส?วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจที่อธิบายลักษณะห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (value chain)[14] ด้วย

นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ก.ล.ต. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพผ่านช่องทางต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้จัดสัมมนา “เสริมสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ”[15] ให้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดทิศทางจากผู้นำองค์กร (tone at the top) ซึ่งสามารถติดตามได้ผ่านเว็บเพจ One Report (sec.or.th)

ธุรกิจจะเริ่มปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร

จากความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบ ตลอดจนแรงกดดันต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจต้องดำเนินการในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเริ่มจากการมี tone at the top ที่นำมาสู่การดำเนินการทั่วทั้งองค์กรและตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การประเมินสาระสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อธุรกิจ ทั้งในเชิงของความเสี่ยงและโอกาส การกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานที่มีเป้าหมายชัดเจนและครอบคลุม การลดผลกระทบ การจัดการ และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางและมาตรฐานที่เป็นสากล

หากถามว่าธุรกิจรอได้ไหม หรือทำเมื่อไรดี คำตอบก็เป็นที่ชัดเจนแบบไร้ข้อสงสัยว่า “ทำเลย อย่ารอ” เพราะการชะลอเวลาจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การลงมือทำทันทีไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจอีกด้วย ก.ล.ต. พร้อมส่งเสริมภาคธุรกิจในการดำเนินการและการเปิดเผยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งในระยะต่อไปจะจัดให้มีเครื่องมือและกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น คู่มือสำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง และการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
 
 
โดยฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

LastUpdate 20/11/2567 13:29:44 โดย : Admin
21-11-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (21 พ.ย.67) ลบ 22.02 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,440.46 จุด

2. ประกาศ กปน.: 26 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเพชรเกษม

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (21 พ.ย.67) ลบ 18.69 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,443.79 จุด

4. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับ 2,630 เหรียญ และมีแนวต้านที่ 2,675 เหรียญ

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) พุ่งขึ้น 20.70 เหรียญ เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนแรงซื้อทอง

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) บวก 139.53 จุด นักลงทุนจับตาผลประกอบการ Nvidia

7. มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ-ภาคอีสาน อากาศเย็นตอนเช้า "ยอดดอย" อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศา "ยอดภู" 13 องศา ภาคใต้ ฝน 60-70%

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (21 พ.ย. 67) ลบ 16.23 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,446.25 จุด

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (21 พ.ย. 67) พุ่งขึ้น 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 44,000 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 พ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์

11. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

12. ตลาดหุ้นปิด (20 พ.ย.67) บวก 2.37 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,462.48 จุด

13. ประกาศ กปน.: 25 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (20 พ.ย.67) ลบ 3.23 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,456.88 จุด

15. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,620 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,655 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 21, 2024, 8:35 pm