เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "Debt deleveraging แบบใด เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้"


 
กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะท้าทายกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
 
กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP (Debt deleveraging) เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความเปราะบางทางการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนจากการบรรเทาปัญหาหนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี กระบวนการลดหนี้ของไทยในระยะต่อไปจะเผชิญความท้าทายกว่าในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงมาก ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปด้วย ภาวะนี้ต่างจากในอดีตที่กระบวนการ Deleveraging เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง การลดหนี้ครัวเรือนไทยในรอบนี้จึงเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น 
 
Debt deleveraging เหมือนจะคืบหน้า แต่อาจไม่ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้
 
แม้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในภาพรวมจะลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2024 แต่ภาพที่ดูเหมือนจะคืบหน้านี้ เกิดขึ้นเพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นหลัก ตามความเสี่ยงของลูกหนี้รายย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ตัวเลข GDP ขยายตัวได้ต่ำ หากสถานการณ์ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและตัวเลข GDP ไทยขยายตัวต่ำทั้งคู่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเห็นผลลบต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคตตามมา ยิ่งจะทำให้การใช้คืนหนี้เดิมทำได้ยากขึ้น 
ดังนั้น การที่เห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดกัน อาจไม่ใช่เครื่องชี้ที่ดีพอจะสรุปได้ว่า ครัวเรือนไทยเริ่มแก้ปัญหาหนี้ได้แล้ว แต่กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงต่อภาคครัวเรือนโดยรวม จะต้องช่วยลดภาระหนี้ในระดับแต่ละครัวเรือนได้ ผ่าน 2 แนวทาง คือ กระบวนการแก้หนี้เดิม จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ต่างกัน และกลไกนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จะต้องช่วยประคองเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวได้มากพอจะนำไปชำระหนี้เพื่อหลุดจากปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน
 
แนวทางปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้ และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยยังไปต่อ 
 
(1) กระบวนการแก้ไขหนี้เดิมต้องครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาต่างกัน
 
การสนับสนุนให้ครัวเรือนจัดการหนี้เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีกระบวนการแก้หนี้เดิมที่ครอบคลุมครัวเรือนที่กำลังมีปัญหาหนี้ให้ได้มากที่สุด ตอบโจทย์ปัญหาหนี้และความต้องการแก้หนี้ที่แตกต่างกันได้ 
 
(2) นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องช่วยสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวในอนาคต 
 
การแก้หนี้เดิมของครัวเรือนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคองเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวเพียงพอกับรายจ่าย ด้านนโยบายการคลังไทยเริ่มมีพื้นที่การคลังจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเจาะจงครัวเรือนเปราะบาง ด้านนโยบายการเงินต้องเอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน โดยสามารถผ่อนคลายเพิ่มได้ หากจำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำลงอีก จนกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนตามมา 

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย” เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่พูดถึงกันมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงขึ้นเร็วและติดอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 2 ปี 2024 ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องจากสิ้นปี 2023 ที่ 91.4% เหลือ 89.6% ต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 จึงเริ่มมีคำถามว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ทยอยปรับลดลง หรือเรียกว่ากระบวนการ Debt deleveraging จะดำเนินต่อเนื่องได้หรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยลดความกังวลขึ้นได้แล้วหรือยัง? SCB EIC ต้องการตอบคำถามที่ว่านี้ โดยวิเคราะห์กระบวนการ Debt deleveraging ของไทยในปัจจุบัน และเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้จริง

เศรษฐกิจไทยในวันที่ Debt deleveraging ท้าทายกว่าเดิม
 
หากย้อนพิจารณาพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP พบว่า กระบวนการ Debt deleveraging เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2016 แต่มาสะดุดลงในช่วงวิกฤต COVID-19 ในช่วงนี้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อได้ตามปกติ ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในอัตราปานกลาง กระบวนการ Debt deleveraging ดำเนินมาต่อเนื่องได้อย่างช้า ๆ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2015 ที่ 85.9% เหลือ 84.1% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แต่กระบวนการนี้ต้องหยุดชะงักลงจากการระบาด COVID-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 95.5% ณ ไตรมาส 1 ปี 2021 (รูปที่ 1)
 
กระบวนการ Debt deleveraging เริ่มเกิดขึ้นใหม่หลังวิกฤตคลี่คลาย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องเหลือ 89.6% ในไตรมาส 2 ปี 2024 อย่างไรก็ดี สาเหตุที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงจากไตรมาสแรก กลับมาจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ Nominal GDP ยังขยายตัวต่ำ (รูปที่ 2) โดยในไตรมาส 2 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวเพียง 1.3%YOY ต่ำสุดตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่รวมกลุ่มสถาบันการเงิน และ Non-bank ในปี 2013 
 
การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์อาจดูไม่น่ากังวล หากเกิดจากการทยอยชำระคืนหนี้เดิมที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของรายได้ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้และรายได้น้อย SCB EIC พบว่าภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง โดยข้อมูลจากการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2023 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนไทยที่มีหนี้กำลังเผชิญปัญหาการเงินที่รุนแรงขึ้น สาเหตุหลักมาจาก ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะมีปัญหารายได้ลดลงชัดเจนเทียบกับปี 2021 ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลางเริ่มเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย (รวมสำหรับรายจ่ายชำระหนี้) มากขึ้น (รูปที่ 3) 

รูปที่ 1 : กระบวนการ Debt deleveraging ของไทยหยุดไปในช่วงวิกฤต COVID-19
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : กระบวนการ Debt deleveraging คืบหน้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มาจากหนี้ขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

รูปที่ 3 : ครัวเรือนไทยที่มีหนี้เปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำและกลุ่มรายได้ปานกลาง
 
 
หมายเหตุ : ข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย และภาระคืนหนี้ของครัวเรือนที่มีหนี้เท่านั้น
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
 
นอกจากข้อมูลสำรวจระดับภาคครัวเรือนข้างต้น หากดูข้อมูลฝั่งผู้ให้กู้ก็พบว่า มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์เข้มงวดขึ้นและอาจเข้มงวดมากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า สะท้อนจากผลสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ (Credit conditions survey) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ยิ่งแสดงถึงความท้าทายในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ (รูปที่ 4)
ภาพยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ลดลงที่เห็นจึงอาจเป็นผลจากการอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลงมากกว่าจะเป็นผลจากการชำระคืนหนี้เก่าได้มาก ดังนั้น กระบวนการ Debt deleveraging ที่เห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 อาจกำลังสะท้อนว่า ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ของครัวเรือนแย่ลง แต่ไม่ได้สะท้อนว่าความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนปรับดีขึ้น  
 
รูปที่ 4 : มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนที่เข้มงวดขึ้น ตามคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลง
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

Debt deleveraging ของไทยเหมือนจะคืบหน้า แต่อาจไม่ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้
 
กระบวนการ Debt deleveraging ของไทยในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่ามีความคืบหน้าในเชิง “ปริมาณ” กล่าวคือ ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ของไทยทยอยปรับลดลงได้แล้ว แต่หากพิจารณาถึงที่มาของการลดลงกลับพบว่า มาจากหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวลดลงมาก กระบวนการที่เห็นนี้จึงอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้ายที่สุด เราสามารถแยกพิจารณากระบวนการ Debt deleveraging ได้ 2 กรณี ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมแตกต่างกันมาก (รูปที่ 5) 

กรณี 1 รายได้ในระบบเศรษฐกิจโตมาก หนี้เพิ่มขึ้นช้า หากเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงหรือเกินศักยภาพ  รายได้ครัวเรือนจะฟื้นตัว การปล่อยสินเชื่อครัวเรือนจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะครัวเรือนมีแนวโน้มจะสามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต กลไกนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนที่เติบโตได้บ้าง จะช่วยประคับประคองการบริโภคและการลงทุนของภาคครัวเรือน และทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างยั่งยืน กระบวนการ Debt deleveraging ในกรณีนี้จึงมีความสมดุล ช่วยให้ครัวเรือนสามารถฟื้นฟูฐานะการเงินตนเองได้ และเอื้อให้เศรษฐกิจไปต่อได้อย่างยั่งยืน

กรณี 2 รายได้ในระบบเศรษฐกิจโตช้า หนี้ลดลงมาก สะท้อนการลดหนี้ได้ในภาวะเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว หากภาวะเศรษฐกิจซบเซายังดำเนินต่อไปจนทำให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง สถาบันการเงินมีแนวโน้มจะยิ่งระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ภาคครัวเรือน เพราะครัวเรือนบางส่วนยังมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภาวะสินเชื่อหดตัวนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด ยิ่งทำให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวลดลงอีก  กลไกนี้จะเกิดเป็นวัฏจักรขาลง การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในอนาคตจะทำได้ยากขึ้นในกรณี 2 นี้ 

รูปที่ 5 : กระบวนการ Debt deleveraging 2 กรณีที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจแตกต่างกัน
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC

สถานการณ์ Debt deleveraging ของไทยในปัจจุบันเริ่มคล้ายกรณีที่ 2 กระบวนการลดหนี้เกิดจากการลดลงของสินเชื่อมากกว่าการเติบโตของรายได้ เศรษฐกิจไทยอาจถูกแรงกดดันจากการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ยังทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เก่าเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ไม่ได้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน กระบวนการ Debt deleveraging ที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ได้สนับสนุนให้ภาคครัวเรือนมีความแข็งแกร่งได้มากขึ้นเท่าที่ควร 

การสนับสนุนให้เกิด Debt deleveraging ที่ยั่งยืน และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้แบบกรณีที่ 2 ต้องอาศัย 1) นโยบายแก้ปัญหาหนี้เดิมในระดับครัวเรือน เพื่อลดหนี้ของแต่ละครัวเรือนโดยตรง ช่วยให้มั่นใจว่าแต่ละครัวเรือนมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ลดลง ฐานะงบดุลของครัวเรือนปรับดีขึ้น และ 2) นโยบายเศรษฐกิจมหภาคประคับประคองรายได้ เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ดีขึ้น และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ ตัดวงจรไหลลงของวัฏจักรหนี้และรายได้ในระบบเศรษฐกิจ
 
นโยบายแก้ปัญหาหนี้เดิมในระดับครัวเรือน ต้องครอบคลุมและตอบโจทย์
 
การลดภาระหนี้ระดับครัวเรือนจะช่วยให้ครัวเรือนมีฐานะการเงินมั่นคงขึ้น เพิ่มกำลังซื้อ และสร้างโอกาสให้ครัวเรือนสามารถวางแผนการออมและการลงทุนระยะยาวได้ดีขึ้น การออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมของครัวเรือนควรคำนึงถึง 2 มิติหลัก ได้แก่ “ความครอบคลุม” (Width) และ “ความลึก” (Depth)  
 
มิติความครอบคลุม (Width) มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมต้องออกแบบให้ช่วยเหลือครอบคลุมครัวเรือนทุกกลุ่มได้ รวมถึงครัวเรือนในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ หรือครัวเรือนที่ไม่มีประวัติเครดิตในระบบ มาตรการที่ครอบคลุม 3 ด้านนี้จะช่วยให้ครัวเรือนทุกระดับสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือและคำแนะนำทางการเงินที่จำเป็น 
 
1. เงื่อนไขโครงการ : ปัจจุบันมีโครงการแก้หนี้ครัวเรือนหลายโครงการ ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน อาทิ สถานะลูกหนี้เป็นหนี้เสียแล้วหรือไม่ มีปัญหาหนี้อยู่ในระดับใด จึงต้องพิจารณาว่า ยังมีลูกหนี้กลุ่มใดที่ไม่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้ลูกหนี้มีทางเลือกเข้าสู่กระบวนการลดหนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำงานนอกระบบ และเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ การจัดโครงการสนับสนุนพิเศษหรือโครงการรองรับลูกหนี้กลุ่มนี้จะช่วยให้ปัญหาหนี้ไม่ขยายวงมากขึ้น 
 
2. ประเภทเจ้าหนี้ : การแก้ไขปัญหาหนี้จะต้องครอบคลุมเจ้าหนี้หลากหลายประเภทให้สอดคล้องกับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่หนี้กับสถาบันการเงินเท่านั้น ควรขยายขอบเขตไปถึงเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ การรวมเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบหรือจัดหาทางเลือกให้ผู้กู้หนี้นอกระบบเข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยสูงและลดโอกาสเกิดการทบหนี้ในอนาคต 
 
3. การรับรู้และการเข้าถึง : ควรสร้างความรับรู้เกี่ยวกับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เข้าถึงได้ง่าย โดยใช้เครือข่ายทางสังคมและหน่วยงานท้องถิ่น การมีเครือข่ายช่วยดูแลความเป็นอยู่ทางการเงินให้คนในท้องถิ่น จะช่วยให้ลูกหนี้มีความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะปรึกษาปัญหาทางการเงิน และสามารถส่งต่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือในส่วนกลางได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
 
มิติความลึก (Depth) การแก้ไขหนี้เดิมของครัวเรือนต้องตอบสนองความต้องการหลากหลายและความซับซ้อนของปัญหา ครัวเรือนอาจมีภาระหนี้จากหลายแหล่ง แต่ละประเภทหนี้ต้องการแนวทางการแก้หนี้ที่แตกต่างกัน การพัฒนาทางเลือกของนโยบายแก้หนี้ที่เจาะจงกลุ่มลูกหนี้หลากหลายจึงมีความสำคัญ พิจารณาได้ 3 ด้าน คือ
 
1. ความเสี่ยงของลูกหนี้ รายได้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวต่างกัน จึงควรมีกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลักษณะของการฟื้นตัวของรายได้ที่แตกต่างกัน สำหรับครัวเรือนที่มีความเสี่ยงสูงและมีความสามารถชำระหนี้จำกัด ควรมีกลไกภาครัฐเข้ามาแบ่งรับความเสี่ยงเพิ่มเติมบางส่วน เนื่องจากลูกหนี้เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่ภาคเอกชนจะสามารถแก้ปัญหาหนี้ให้ได้ในระยะยาว   
 
2. ความซับซ้อนของปัญหาหนี้ ครัวเรือนบางกลุ่มอาจมีเจ้าหนี้หลายราย หรือมีหนี้หลายประเภท ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้นอกระบบ ปัญหาหนี้หลายประเภทต้องการการแก้ไขที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นในการจัดการความซับซ้อนเฉพาะกรณี นอกจากนี้ หากลูกหนี้มีหนี้กับเจ้าหนี้ภายใต้การกำกับดูแลต่างหน่วยงาน หรือไม่มีการกำกับดูแล จะทำให้ข้อมูลหนี้หลายแหล่งของลูกหนี้ไม่เชื่อมโยงกัน การช่วยเหลืออาจไม่ตรงเป้าหมาย จึงต้องบูรณาการผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น 
 
3. ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ลูกหนี้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินไม่มากต้องการความช่วยเหลือในการตัดสินใจเลือกข้อเสนอแก้หนี้จากเจ้าหนี้หลายราย การมีผู้เชี่ยวชาญเป็นคนกลาง ให้คำปรึกษา และให้ความรู้ทางการเงินจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถตัดสินใจแก้หนี้และมีความรู้ทางการเงินดีขึ้น
 
นโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคับประคองให้ครัวเรือนมีรายได้และแก้หนี้เดิมได้
 
กระบวนการ Debt deleveraging แก้ปัญหาหนี้เดิมในระดับครัวเรือน จะต้องดำเนินการพร้อมนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนสามารถฟื้นฟูฐานะทางการเงิน (Balance sheet) ได้ ทั้งการสร้างสมดุลรายได้ รายจ่าย และภาระหนี้ ตลอดจนการบริหารกระแสเงินสดและการลงทุนทรัพย์สินอื่น ๆ (รูปที่ 6) เพื่อให้ครัวเรือนสามารถฟื้นตัวทางการเงินได้อย่างยั่งยืน 
 
รูปที่ 6 : ความเชื่อมโยงระหว่างความสามารถในการชำระหนี้ รายได้ รายจ่าย และสินทรัพย์ของครัวเรือน 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC

นโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะมีบทบาทฟื้นฟูฐานะการเงินครัวเรือนผ่านหลายช่องทาง โดยในรายงาน IMF กล่าวถึงหลักการในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดี  ไว้ว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญเพื่อช่วยไม่ให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำหลายครั้ง การออกนโยบายแก้ไขหนี้เดิมเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเข้าช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่ในสภาวะพร้อมรองรับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการ Debt deleveraging เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคยังมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นว่า ลูกหนี้จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้อีกครั้งในอนาคต ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปรับโครงสร้างหนี้เดิม นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยสามารถสนับสนุนกระบวนการ Deleveraging ได้ดังนี้
 
นโยบายการคลังเจาะจงกลุ่มเปราะบาง ภายใต้ข้อจำกัดทางการคลัง : 
 
นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่ COVID-19 จนเริ่มมีข้อจำกัดทางการคลัง ตั้งแต่ช่วงการระบาด นโยบายการคลังช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด ขนาดการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมากและอาจเข้าใกล้เพดานหนี้ใหม่ 70% ในระยะปานกลาง การขาดดุลการคลังสูงต่อเนื่อง อาจกระทบเสถียรภาพการคลัง และมีผลเสียต่อเสถียรภาพระบบการเงินตามมาได้ ในปัจจุบันนโยบายการคลังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากเช่นเดิมแล้ว เพราะเริ่มเผชิญข้อจำกัดการคลังมากขึ้น การใช้มาตรการจึงควรเน้นไปที่การช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหาทางการเงินหรือกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก โดยในระยะสั้น การสนับสนุนเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครัวเรือนเหล่านี้ จะช่วยลดภาระรายจ่ายที่ครัวเรือนต้องแบกรับ ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ในระยะยาว การสร้าง Social safety net ให้แก่ครัวเรือนเปราะบางอย่างเป็นระบบจะช่วยสนับสนุนกระบวนการการแก้ไขปัญหาหนี้ได้มาก
 
นโยบายการเงินที่เหมาะสม จะช่วยสนับสนุน Debt deleveraging :

นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงบ้าง จะไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้เหมือนในอดีต หนึ่งในประเด็นสำคัญที่นโยบายการเงินไทยให้ความสำคัญคือระดับอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อกระบวนการ Debt deleveraging โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไปอาจกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือน ทำให้กระบวนการ Debt deleveraging ดำเนินไปได้ไม่ต่อเนื่อง แม้ในช่วงก่อน COVID-19 อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซา สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ จึงอาจไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือนดังเช่นในภาวะที่เศรษฐกิจร้อนแรง  เห็นได้จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เริ่มโตต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 และโตต่ำกว่า Trend มาระยะหนึ่งแล้ว (รูปที่ 7) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าอดีตมาก
 
นอกจากนี้ ผลศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในสภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ครัวเรือนจะมุ่งเป้าไปที่การพยายามชำระหนี้เก่าของตนเองให้ลดลงมามากกว่าที่จะกู้หนี้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ก็ตาม  ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของครัวเรือน และประคับประคองเศรษฐกิจในภาพรวมให้เติบโตได้ จึงไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้ซึ่งจะเป็นการฉุดรั้งกระบวนการ Debt deleveraging 

ในทางกลับกัน หากนโยบายการเงินตึงตัวเกินไป อาจทำให้กระบวนการลดหนี้ในระดับครัวเรือนทำได้น้อยลง ผลการศึกษาที่แบ่งเศรษฐกิจออกเป็นช่วง Leveraging (การเพิ่มหนี้) และ Deleveraging (การลดหนี้) ยังพบว่า หากนโยบายการเงินตึงตัวในช่วง Deleveraging และเศรษฐกิจมีหนี้สูงจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าและใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับนโยบายตึงตัวในช่วง Leveraging ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดีและการบริโภคยังคงขยายตัวได้   การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในช่วง Deleveraging ยิ่งกดดันให้การลดภาระหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างยืดเยื้อทำให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนล่าช้า ครัวเรือนหลายครัวเรือนอาจประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้น ก่อให้เกิดแรงกดดันการบริโภคและการชำระหนี้ตามมา

รูปที่ 7 : หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง และเริ่มต่ำกว่าเทรนด์ในปีนี้

 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
นโยบายการเงินไทยในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินระดับเป็นกลางต่อเศรษฐกิจได้ หากมองว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงมาก เนื่องจากศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ปรับลดลงอย่างชัดเจน จากการประเมินของ SCB EIC ในปี 2024 พบว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 2.7% จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 3.4% ในช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง (Neutral rate) ที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ และระดับเงินเฟ้อในระยะยาว จึงมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ การคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงกว่าในอดีต ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจลดลง (รูปที่ 8) จึงทำให้นโยบายการเงินมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียสถานะของความเป็นกลาง (Neutral stance : ไม่กระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ) และเข้าสู่สถานะตึงตัว (Tight monetary policy) ในกรณีนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นการลดความเสี่ยงที่นโยบายการเงินจะเข้าสู่สถานะตึงตัว

รูปที่ 8 : SCB EIC ประเมินว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลง
 
 
หมายเหตุ : ประยุกต์จากงานศึกษา Estimating potential output, output gaps and structural budget balances (Claude et al, 1995) 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย
 
ดังนั้น การชั่งน้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินจึงควรให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงที่รายได้ครัวเรือนจะไม่ฟื้นตัวในอนาคต การดำเนินนโยบายการเงินผ่านมุมมองการจัดการความเสี่ยง (Risk management) ของกระบวนการ Debt deleveraging จึงต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยง 2 ประการที่จะทำให้กระบวนการดังกล่าวอาจสะดุดลง (รูปที่ 9) ได้แก่
 
(1) ความเสี่ยงจากการก่อหนี้ใหม่จนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับสูงขึ้น นำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรังในระยะยาว 
 
(2) ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจนทำให้ GDP เติบโตไม่เร็วพอที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ส่งผลให้การแก้ปัญหาหนี้ในปัจจุบันยิ่งท้าทายมากขึ้น
 
รูปที่ 9 : การชั่งน้ำหนักความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้ Debt deleveraging เกิดขึ้นต่อเนื่อง
 

 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC

เมื่อพิจารณาถึงบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันตามที่กล่าวไป จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงจากการก่อหนี้ใหม่อยู่มาก การดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมจึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคตผ่านการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านช่วงความเสี่ยงสูง การประคับประคองเศรษฐกิจไทยนี้จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสนับสนุนกระบวนการ Debt deleveraging ของภาคครัวเรือน โดยเมื่อครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้และลดภาระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไป ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการลดหนี้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนและลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ในท้ายที่สุด กระบวนการ Debt deleveraging ที่จะตอบโจทย์ครัวเรือนและทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องมองให้กว้างไปกว่าการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน แต่ต้องให้ความสำคัญถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของครัวเรือนได้ นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัว เพราะการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนที่ยั่งยืนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยมานานประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในท้ายที่สุด 

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/debt-deleveraging-211124

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
นนท์ พฤกษ์ศิริ (nond.prueksiri@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
 
ก้องภพ วงศ์แก้ว (kongphop.wongkaew@scb.co.th) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ย. 2567 เวลา : 16:42:52
21-11-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (21 พ.ย.67) ลบ 22.02 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,440.46 จุด

2. ประกาศ กปน.: 26 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเพชรเกษม

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (21 พ.ย.67) ลบ 18.69 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,443.79 จุด

4. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับ 2,630 เหรียญ และมีแนวต้านที่ 2,675 เหรียญ

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) พุ่งขึ้น 20.70 เหรียญ เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนแรงซื้อทอง

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) บวก 139.53 จุด นักลงทุนจับตาผลประกอบการ Nvidia

7. มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ-ภาคอีสาน อากาศเย็นตอนเช้า "ยอดดอย" อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศา "ยอดภู" 13 องศา ภาคใต้ ฝน 60-70%

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (21 พ.ย. 67) ลบ 16.23 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,446.25 จุด

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (21 พ.ย. 67) พุ่งขึ้น 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 44,000 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 พ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์

11. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

12. ตลาดหุ้นปิด (20 พ.ย.67) บวก 2.37 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,462.48 จุด

13. ประกาศ กปน.: 25 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (20 พ.ย.67) ลบ 3.23 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,456.88 จุด

15. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,620 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,655 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 21, 2024, 7:47 pm