บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เรือธงด้านการลงทุนภายใต้กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ (SCBX Group) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกและการลงทุนปี 2568 จะอยู่ในสภาพของ “ความผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ” กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะคือ “การลงทุนแบบเก็งกำไร (Trading)” เศรษฐกิจโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงสำคัญ 4T ได้แก่ 1. Transition – การเปลี่ยนผ่านจากภาวะเงินเฟ้อสูงมาสู่ภาวะ Soft Landing 2. Trump - การกลับมาของนโยบาย America First 3. Technology – พลังขับเคลื่อนจาก AI และเทคโนโลยีสีเขียว และ 4. Turmoil – ความปั่นป่วนทั่วโลก อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตกว่า 3% โดยจะมีความท้าทายส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ทั้งด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศ สินทรัพย์ที่น่าลงทุนคือ ทองคำ ตราสารหนี้คุณภาพดีใน 1H25 ตลาดหุ้นผันผวน เน้นไปที่เชิงรับและหุ้น Value ที่มีการฟื้นตัว แนะนำเลือกลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีน อินเดีย และ เวียดนาม ด้านตลาดหุ้นไทยคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 22%YoY โดยมองเป้าหมาย SET Index ที่ 1,550 จุด กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนโดดเด่นจะเป็นกลุ่มมีสัดส่วนรายได้ภายในประเทศสูงและเป็นกลุ่มเชิงรับ อาทิเช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มพาณิชย์
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า “ภาพรวมการลงทุนในปี 2568 จะอยู่ในสภาพ ความผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกช่วงปีที่ผ่านมา รอยต่อของ ณ จุดเปลี่ยนของนโยบายเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นในช่วงหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯช่วงเดือนพฤศจิกายน ได้แก่เรื่องของอัตราดอกเบี้ย จากที่มีการคาดการว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วจนถึงปี 2568 3-4 ครั้ง ในอัตรารวม 1% แต่พอผลการเลือกตั้งออกมาว่า โดนัล ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ มุมมองต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐก็ปรับลดความคาดหวังลงเหลือ 1-2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดการเงินมีการปรับตัว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯกลับขึ้นมาสูงมาก ค่าเงิน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็ปรับขึ้นมาแข็งค่ามาก จุดเปลี่ยนนี้เองทำให้เกิดการกลับทิศของมุมมองของการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดเอเชีย และในตลาดไทยที่ถือว่ามีความท้าทายเป็นอันดับ 1 เพราะตอนนี้เงินบาทกลายเป็นแข็งค่า ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็ปรับลงไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่
ส่วนมุมมองเศรษฐกิจปี 2568 นี้ แบ่งออกเป็น 2 มิติ มิติแรกคือ โดนัล ทรัมป์ จะมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีถึงแนวทางนโยบายหลักอยู่แล้วว่า ทรัมป์เล็งที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า แต่ต้องติดตามหลังได้รับตำแหน่งต่อว่าจะขึ้นในอัตราเท่าไหร่และจะขึ้นเร็วแค่ไหน แน่นอนว่าเรื่องนี้จะส่งผลด้านลบในภาพของเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ เช่น จีน เอเชีย และยุโรป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางมากขึ้น สำหรับมิติที่สอง คือ ประเทศที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ จะมีการออกมาตรการมาชดเชย เพราะว่าภาคการค้าระหว่างประเทศของปี 2568 คงจะมีความวุ่นวายพอสมควรจากการปรับอัตราภาษี อย่างเช่น จีน และไทย แต่ก็จะมีส่วนของข่าวดีในตลาดเอเชีย คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะช่วยคานผลลบที่อาจจะเกิดการกีดกันทางการค้า เราจึงเห็นภาพของเศรษฐกิจที่คาดว่ามีการ Battle กัน และความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน จากมุมมองว่าประเทศอื่น ๆ จะมีสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่กว่าสหรัฐฯ ทำให้มีความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่มากกว่าทางการ Fed โดยพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ซึ่งประเทศไทย มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 2-3 ครั้งได้เหลือ 1.5% และในตอนนี้ เศรษฐกิจไทยก็กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของมาตรการกระตุ้นการบริโภค ได้แก่ มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ได้เดินทางมาถึงเฟสที่ 2 และยังมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงมาตรการในเรื่องของการลงทุนของรัฐบาล ที่คาดว่าอาจได้เห็นช่วงครึ่งปีหลังเพื่อเพิ่มศักยภาพระยะยาว จะเป็นส่วนช่วยให้ GDP ปี 2568 ของไทยมีการเติบโตมากกว่า 3% ส่วนด้านผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ว่าจะมีความรุนแรงกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหนนั้นคงต้องติดตามเป็นระยะ ๆ ซึ่งเราเชื่อว่าไทยจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศแรกที่โดนกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ แต่การที่จีนได้รับผลกระทบโดยตรงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากก็น้อยเราจึงประเมินว่ากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับปีงูเล็กนี้คือ การลงทุนแบบเก็งกำไร (Trading) โดยเฉพาะการลงทุนระยะสั้น และลงทุนเป็นรอบ ซึ่งต่างจากปี 2567 ที่ผ่านมาที่เคยให้มุมมองว่าเป็นปีแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ A Year of Value Investing เนื่องจากภาพรวมตลาดหุ้นที่ราคาไม่ได้ undervalue เหมือนกับช่วงต้นปี 2567 แล้ว”
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า “เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงสำคัญ 4 ประการ (4T) ได้แก่ 1. Transition – เศรษฐกิจโลกกำลังเดินทางสู่ภาวะ Soft Landing จากเศรษฐกิจที่ชะลอลง และเงินเฟ้อที่ลดลง 2. Trump - การกลับมาของนโยบาย America First ทั้งด้านประเด็นของสงครามการค้า, การเนรเทศผู้อพยพออกไป และการคลังที่จะมีการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% สร้างความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เมื่อพิจารณาถึงภาพใหญ่อาจทำให้เงินเฟ้อมีการปรับเพิ่มขึ้น และมีความ เสี่ยงของการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนมีความผันผวน จากการคานเสถียรภาพกับข้อที่ 1 3. Technology – พลังขับเคลื่อนจาก AI และเทคโนโลยีสีเขียว การที่ได้อัจฉริยะอย่างอีลอน มัสก์เข้ามามีส่วนในรัฐบาล อาจทำให้สหรัฐฯมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่นการพัฒนาระบบขับขี่ Autonomous ในรถยนต์EV เป็นต้น และ 4.Turmoil – ความปั่นป่วนทั่วโลกที่มากขึ้น อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ วิกฤตยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และการเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้
ด้านเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 4 ประการ (4T) ได้แก่ 1. Tightened Economy – ภาคการผลิตของไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด สังเกตจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง ที่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเลย ซึ่งทางแก้ระยะสั้นอาจต้องมีการลดราคาสินค้าและบริการในประเทศด้วยการทำให้ค่าเงินมีการอ่อนค่าลง 2. Time to Cut – นโยบายการเงินตึงตัวเกินไป ธปท. ต้องพิจารณาลดดอกเบี้ยเร็วและต่อเนื่อง 3. Tax Reform – ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงวิกฤตการคลัง และ 4. Temperature Rising – ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรง โดย InnovestX คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.7% จากปัจจัยหนุนด้านนโยบายการคลังที่ยังผ่อนคลาย ขณะที่นโยบายการเงินขึ้นอยู่กับการลดดอกเบี้ยของธปท. เป็นหลัก โดยหากลดช้าจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนมกราคม 2568 เราคาดการณ์ว่าการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 0.5% และ 2.2% ขณะที่นักท่องเที่ยวคาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน ด้านการส่งออกมีแนวโน้มไม่ขยายตัว”
นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่าความท้าทายสำคัญในปี 2568 ได้แก่ 1) นโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองโลกของนายโดนัลด์ ทรัมป์ 2) ตลาดการเงินโลกจะผันผวนมากขึ้นไปตามกระแสของข้อมูล ข่าวสารที่คาดว่าจะมีความถี่เพิ่มขึ้นมาก 3) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่ายังมีแนวโน้มสดใส แต่ Valuation ของหุ้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยแล้วทำให้มีโอกาสเกิดการปรับตัวลดลงได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ผิดคาด 4) เศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญกับ 2 ปัญหาใหญ่ คือ ระดับหนี้สูง และผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และ 5) ผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าจะส่งผลให้เกิด Currency war ตามมา ส่วนปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนตลาดการเงิน ได้แก่ นโยบายผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลาง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ เช่น จีน เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
“สำหรับประเทศไทยมองว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2568 จะแข็งค่าคงที่ที่ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราดอกเบี้ย ทงธปท.อาจมีการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง มาสู่ระดับที่ 1.5% และราคาน้ำมันดิบ Brent จะลดลงจากเฉลี่ย 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีนี้” นายสุทธิชัย กล่าวเพิ่มเติม
นายวิศกรณ์ คีรีวรรณ, CFA, ผู้อำนวยการ Investment Strategist ฝ่าย Wealth Products & Strategy บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด “การจัดสรรเงินลงทุนปี 2568 ยังคงแนะนำลงทุนในตราสารทุนมากกว่าตราสารหนี้ โดยมีการใช้ทองคำในการกระจายความเสี่ยง สิ่งที่นักลงทุนควรคำนึงอยู่เสมอในปี 2568 ก็คือ “การเลือกลงทุน” เนื่องจากเป็นปีแห่งการเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ดังนั้นการเติบโตของกำไรตลาดดังเช่นในปี 2567 นั้นอาจจะไม่ได้เห็นในปีนี้ นอกจากนี้ปัจจัยด้านการเมือง อย่างการมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์นั้นถูกสะท้อนเข้าไปในราคาสินทรัพย์นับตั้งแต่รู้ผลการเลือกตั้ง เนื่องความกังวลด้านนโยบาย TRUMP 1.0 ว่าจะหวนกลับมาใน TRUMP 2.0 อีกครั้ง โดยเรามองว่ามีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันทั้งเงินเฟ้อและเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง จึงทำให้ภาพในอดีตนั้น อาจจะไม่ย่ำแย่เหมือนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล โดยเราแนะนำ “เลือกลงทุน” ในหุ้นกลุ่มเงินและหุ้นขนาดกลาง-เล็กสไตล์คุณค่าของสหรัฐฯ เพื่อรอรับจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ที่จะมาถึง พร้อมทั้งเน้นลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่นและได้รับกระทบด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าในอดีตอย่างตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม ในขณะที่ด้านตราสารหนี้นั้นเราแนะนำให้นักลงทุนในตราสารหนี้โลกที่มีอายุ (Duration) ไม่เกิน 3 – 5 ปี เพื่อล็อกผลตอบแทนและกระจายเสี่ยงในทองคำควบคู่กันไปด้วย”
ขณะที่ นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภาพรวมและกลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีแรกมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มดีและแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น แนวโน้มดอกเบี้ยยังเป็นการลดลงตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีการลดค่าใช้จ่ายและลดภาษีเป็นมาตรการสำคัญ แนะนำ กลุ่มการเงินและหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่ได้ประโยชน์ด้านภาษีที่ลดลง ได้แก่ หุ้น HD, V, COST, WMT ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก ยังมีแนวโน้มที่ดี เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะที่สมดุล นอกจากนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการลดดอกเบี้ยจะช่วยลดผลจากการชะลอตัวลงของการส่งออกได้
จึงแนะนำ ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ที่เน้นตั้งรับในกลุ่มที่มีสัดส่วนภายในประเทศสูง 4 ธีมด้วยกัน ได้แก่ 1) Value Stock หุ้นมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ปลอดภัยและมีศักยภาพโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ AOT BBL CPALL 2) Dividend Stock หุ้นปันผลสูงที่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้พอร์ต ได้แก่ AP BCP LHHOTEL 3) Laggard Stock หุ้นที่ราคาปรับขึ้นช้า แต่ผลประกอบการเริ่มส่งสัญญาณบวกในปีนี้ ได้แก่ BCH GPSC HMPRO และ 4) Mid-Small Cap Growth หุ้นที่กำไรจะเติบโตดี และมี Upside Risk ได้แก่ AMATA AU INSET ”
ข่าวเด่น