เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ "กระแสการลงทุน Data Center เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทย"


ขนาด Data Center ในไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10.8 เท่า ในช่วงปี 2566-71  ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นราว 2.41 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของ 1) ผู้ให้บริการระบบ Cloud ชั้นนำของโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok 2) กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าลงทุน Data Center ตั้งแต่ก่อนปี 2566 เช่น NTT Global Data Center 3) กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center นอกเหนือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่ทยอยขอการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น CtrlS NextDC และ EDGNEX

 
แนวโน้มการลงทุน Data Center ดังกล่าวคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการพัฒนา Data Center ราว 9.26 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวมากที่สุดคือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคาร ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ราว 3.60 หมื่นล้านบาท 
 
เพื่อดึงดูดให้บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกลงทุน Data Center ในไทยมากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถขยายโคร่งข่ายสายเคเบิล รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center สามารถซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนโดยตรง ผ่านระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ อีกทั้งเพิ่มบุคลากรด้านไอทีของไทยผ่านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอทีระยะสั้นที่เน้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้นในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ความต้องการใช้ระบบ Cloud ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลของไทยเพิ่มขึ้นตาม สะท้อนได้จากมูลค่าตลาดของ Data Center และบริการระบบ Cloud ของไทย ที่ Colliers คาดว่าจะมีมูลค่าเติบโตจาก 2.0 หมื่นล้านบาทในปี 2562 เป็น 7.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 24.3%CAGR ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาคธุรกิจเร่งทำ Digital Transformation เพื่อให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อที่จะได้นำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจกับผู้บริโภคมากขึ้น 
 
การเติบโตของการใช้ระบบ Cloud ของไทยอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการพัฒนา Data Center ของภาครัฐเอง และการสนับสนุนการลงทุน Data Center ของภาคเอกชนจากภาครัฐ ผ่านการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลของบริษัทที่ลงทุนสูงสุด 10 ปี และยกเลิกภาษีเงินได้ของบริษัท 8 ปี  เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น Amazon และ Google เข้ามาลงทุน Data Center ในไทยมากขึ้น 
 
ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุน และสร้างรายได้ให้กับบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการพัฒนา Data Center ในระยะข้างหน้า โดยแนวโน้มของการลงทุน Data Center และผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการของไทยจะได้รับระหว่างการพัฒนาData Center จะได้วิเคราะห์ในบทความนี้   

แนวโน้มการลงทุน Data Center ในไทย เป็นอย่างไร?
 
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการ Cloud Solution และ Data Center ชั้นนำในและต่างประเทศหลายแห่งมีแผนที่จะเดินหน้าขยายการลงทุน Data Center ในไทยอย่างต่อเนื่องในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ขนาด Data Center ซึ่งวัดจากกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในการให้บริการ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าขนาด Data Center ในไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 67 เมกะวัตต์ในปี 2566 เป็น 721 เมกะวัตต์ในปี 2571 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60.8% CAGR  ซึ่งมาจากการลงทุนของผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่

 
1. ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุน Data Center ในไทยตั้งแต่ก่อนปี 2566 เช่น NTT Global Data Center ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขนาด Data Center ทั้งหมดราว 174 เมกะวัตต์  
 
2. กลุ่มผู้ให้บริการ Cloud Solution และ Data Center ชั้นนำโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok ซึ่งคาดว่าจะขยายขนาด Data Center ในไทยราว 290 เมกะวัตต์4
 
3. กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center นอกเหนือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่ทยอยขอการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น  CtrlS NextDC และEDGNEX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำของอินเดีย ออสเตรเลีย และดูไบ ซึ่งคาดว่าจะขยายขนาด Data Center ราว 150 เมกะวัตต์4 
 
4. กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center ในประเทศ เช่น บจก.จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ADVANC SINGTEL และ GULF ซึ่งคาดว่าจะลงทุน Data Center ราว 40 เมกะวัตต์4

 
การลงทุน Data Center ของกลุ่มผู้ประกอบการที่กล่าวมาในข้างต้นคาดว่าจะก่อให้เกิดเงินลงทุนเบื้องต้นในการพัฒนา Data Center ราว 2.41 แสนล้านบาท  ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการพัฒนา Data Center เช่น ผู้ให้บริการก่อสร้างโครงสร้างและอาคารของ Data Center และผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและไอทีใน Data Center มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการก่อสร้างรวมทั้งจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีและระบบไฟฟ้าใน Data Center ให้กับบริษัทที่เข้ามาลงทุน Data Center ในช่วงปี 2567-71 ซึ่งผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการในห่วงอุปทานนี้จะได้รับ จะวิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป

โอกาสผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของการพัฒนา Data Center
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา Data Center ในช่วงปี 2567-71 ทั้งหมด 9.26 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่ยังไม่รวมผลประโยชน์จากการจัดจำหน่ายที่ดิน และค่าบริการอื่นๆในช่วงที่ Data Center เปิดให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์มี 4 กลุ่ม ดังนี้  
 
1. ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคารของ Data Center ซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการขยายการลงทุนพัฒนา Data Center ในช่วงปี 2567-71 มากที่สุด โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการก่อสร้างโครงสร้างและอาคารของ Data Center ราว 3.60 หมื่นล้านบาท โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ให้บริการ Data Center ที่มีแผนที่จะลงทุนพัฒนา Data Center ในช่วงเวลาดังกล่าวใช้บริการก่อสร้างจากผู้ประกอบการในไทยทั้งหมด รวมทั้งใช้เงินในการก่อสร้าง Data Center ราว 55 ล้านบาท/เมกะวัตต์  
 
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการของไทยที่มีศักยภาพในการเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สามารถรับงานก่อสร้างอาคารและมีความเชี่ยวชาญในการเตรียมพื้นที่ให้เหมาะกับ Data Center เช่น บมจ.อินฟราเซท (INSET) บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC) บจก.ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) 

 
2. กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่าย Generator ระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System :BMS) อุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า (Power Distribution Unit: PDU) เครื่องสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply: UPS) และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆใน Data Center ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนพัฒนา Data Center ในช่วงเวลาดังกล่าวรองลงมา โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดจำหน่ายและให้บริการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวราว 3.19 หมื่นล้านบาท โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ให้บริการ Data Center ที่เข้ามาลงทุน Data Center ในไทยซื้อและใช้บริการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวภายในประเทศทั้งหมด
 
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีโอกาสที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ควรเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย Generator BMS PDU และ UPS ของแบรนด์ชั้นนำของโลก เช่น บมจ.อาซีฟา (ASEFA) และ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เนื่องจากผู้ให้บริการระบบ Cloud และ Data Center ชั้นนำของโลก เช่น Microsoft และ Google นิยมซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวของแบรนด์ชั้นนำของโลก เช่น Schneider ABB และ Siemens จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นลงทุน Data Center 

 
3. กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายและให้บริการติดตั้งระบบเครือข่าย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่ามีรายได้จากการจัดจำหน่ายและให้บริการติดตั้งระบบเครือข่ายให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุน Data Center ในไทยในช่วงปี 2567-71 ราว 2.47 หมื่นล้านบาท  โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ให้บริการ Data Center ที่เข้ามาลงทุน Data Center ในไทยซื้อและใช้บริการติดตั้งระบบเครือข่ายจากผู้ประกอบการในประเทศทั้งหมด 
 
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีโอกาสที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการติดตั้งระบบเครือข่าย เช่น บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (AIT) บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) บมจ. สกาย ไอซีที (SKY) และ บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) เพราะผู้ให้บริการระบบ Cloud และ Data Center ชั้นนำของโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok นิยมซื้อและใช้บริการติดตั้งระบบเครื่อขายและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากผู้ประกอบการในประเทศที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นลงทุน Data Center 
 
4. กลุ่มผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายที่ดินที่ใช้สำหรับตั้ง Data Center ซึ่งคาดว่าจะได้รับรายได้เพิ่มจากจัดจำหน่ายที่ดินให้กับบริษัทที่เข้าลงทุนพัฒนา Data Center ในช่วงปี 2567-71 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพราะนิคมอุตสาหกรรมมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับ Data Center เช่น ระบบจ่ายไฟฟ้าสำรอง ระบบโทรคมนาคม และระบบป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งยังอยู่ใกล้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มใช้บริการ Data Center มากขึ้นในอนาคต  
 
แม้ว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา Data Center ในช่วงปี 2567-71 จากการประเมินข้างต้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำโลก ยังแสดงความสนใจที่จะลงทุน Data Center ในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกด้วย เพื่อให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุน Data Center ได้มากขึ้นในอนาคต ภาครัฐและเอกชนไทยสามารถปรับตัวตามตัวอย่างแนวทางในหัวข้อถัดไป
 
แนวทางในการปรับตัวเพื่อดึงดูดการลงทุน Data Center จากต่างประเทศ
 
ปัจจุบัน ไทยมีความสามารถในการรองรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศน้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย รวมทั้งยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนหลักของ Data Center สูงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนใน Data Center จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกลดลง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน Data Center ในไทย ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยสามารถปรับตัวตามแนวทาง ดังนี้
 
 
1. เพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายของการเชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตด้วยการขยายโคร่งข่ายสายเคเบิล เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของไทย โดยปัจจุบันไทยมีสถานีเคเบิลใต้น้ำ 9 แห่ง ซึ่งน้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ 27 21 15 และ 10 แห่ง ตามลำดับ จึงทำให้ไทยมีความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศน้อยกว่าประเทศเหล่านั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ไทยสามารถขยายการลงทุนสถานีเคเบิลใต้น้ำเพื่อให้ไทยสามารถรองรับการจัดเก็บข้อมูลจากต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งช่วยดึงดูดให้ผู้ให้บริการ Data Center จากต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากขึ้น 
 
2. อนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center สามารถซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนโดยตรงผ่านระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการระบบ Cloud และ Data Center ที่มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาที่ถูกลงและได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยค่าไฟฟ้าในปี 2567 ของไทยอยู่ราว 4.18 บาท/หน่วยไฟฟ้า ซึ่งสูงกว่าค่าไฟฟ้าของบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ราว 2.67 และ 2.52 บาท/หน่วยไฟฟ้า  
 
ดังนั้น ภาครัฐสามารถอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center ซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของภาคเอกชน (Solar Power Plant ของเอกชน) โดยตรงผ่านระบบสายส่งแลจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ และคิดค่าบริการระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าไม่เกิน 0.16 บาท/หน่วยไฟฟ้า เพื่อใหผู้ประกอบการData Center สามารถเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาที่ไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ให้บริการ Data Center จากต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากขึ้น 
 
3. เพิ่มบุคลากรด้านไอทีของไทยผ่านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอทีระยะสั้น โดยไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ด้านดิจิทัลน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อีกทั้ง ยังขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีจำนวนมาก จึงทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีเลือกตั้งสำนักงานในประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย   
 
เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านไอที ภาครัฐสามารถขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านไอทีเข้มข้นระยะสั้นที่เน้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงและมีการฝึกงานกับภาคเอกชน ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของประเทศสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านไอทีที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน 

 
Summary
 
ขนาด Data Center ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 60.8%CAGR ในช่วงปี 2566-71 ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของผู้ให้บริการ Data Center และระบบ Cloud ชั้นนำของโลก เช่น Microsoft  Google และ TikTok กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าลงทุน Data Center ตั้งแต่ก่อนปี 2566 เช่น NTT Global Data Center และกลุ่มผู้ให้บริการ Data Center นอกเหนือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่ทยอยขอการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น CtrlS NextDC และ EDGNEX ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นในการพัฒนา Data Center ราว 2.41 แสนล้านบาท 
 
แนวโน้มการลงทุน Data Center คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในอุปทานการพัฒนา Data Center ราว 9.26 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการลงทุนดังกล่าวมากที่สุด คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคาร
 
เพื่อดึงดูดให้บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกลงทุน Data Center ในไทยมากขึ้น ในระยะข้างหน้า ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถขยายโคร่งข่ายสายเคเบิล รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center สามารถซื้อและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนโดยตรงผ่านระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของภาครัฐ และสามารถเพิ่มบุคลากรด้านไอทีของไทยผ่านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอทีระยะสั้นที่เน้นนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
 
พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.พ. 2568 เวลา : 12:55:09
23-02-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ราคาทองวันนี้ 22/02/2568 ปรับเพิ่ม 100 บาท ราคาทองคำแท่ง 46,700 บาท

2. ดาวโจนส์ปิดร่วง 748.63 จุด กังวลภาวะเศรษฐกิจ-ภาษีศุลกากร

3. ทองคำนิวยอร์กปิดลบ $2.90 จากแรงขายทำกำไรหลังทำนิวไฮ

4. พยากรณ์อากาศ ประจำวันที่ 22 ก.พ.2568 ภาคกลาง อากาศร้อนในตอนกลางวัน ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่

5. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (21 ก.พ.68) บวก 0.60 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,246.21 จุด

6. ประกาศ กปน.: 26 ก.พ. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) และถนนพระรามที่ 1

7. หุ้นไทยปิดเช้าบวก 1.86 จุด มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 26,511.63 ล้านบาทแกว่งผันผวน ได้แรงซื้อกลุ่ม GULF หนุน คาดบ่ายไซด์เวย์

8. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,910 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,955 เหรียญ

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 ก.พ.68) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

11. กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตต. ฝนฟ้าคะนอง 20% ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 30%

12. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 ก.พ.68) ทำนิวไฮ บวก 20 เหรียญ กังวลภาษีทรัมป์หนุนแรงซื้อทองสินทรัพย์ปลอดภัย

13. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (20 ก.พ.68) ลบ 450.94 จุด หวั่นผลกระทบมาตรการภาษีทรัมป์ ฉุดผลประกอบการวอลมาร์ทร่วง

14. ทองเปิดตลาดวันนี้ (21 ก.พ. 68) ร่วงลง 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 47,100 บาท

15. ตลาดหุ้นไทยเปิด (21 ก.พ.68) ลบ 2.08 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,243.53 จุด

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 23, 2025, 4:30 am