เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สนับสนุนกนง. ลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้....อย่ามัวแต่ระวัง




คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะประชุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ได้ลดจากระดับสูงสุดที่ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ในรอบการประชุมเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ในรอบการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม โดยปัจจัยสำคัญที่ตีความได้จากการที่กนง.คงอัตราดอกเบี้ยคราวก่อนก็ด้วยการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ policy space ไว้เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อยามจำเป็นและตลาดมีความชัดเจน ไม่สับสนจากมาตรการการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งหากทำไปล่วงหน้าแล้ว นโยบายการเงินอาจมีประสิทธิภาพด้อยลง ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและทิศทางอัตราเงินเฟ้อน่าจะขยับเข้ากรอบเป้าหมายของธปท.ในอนาคต แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวเดือนเศษ เศรษฐกิจดูเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น เราจึงมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00% ในรอบการประชุมที่จะถึงนี้

ปัจจัยสนับสนุนลดดอกเบี้ยรอบนี้

ผมคาดว่าทางกนง.จะพิจารณาถึงความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ซึ่งได้แก่

1. เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด – หลัง GDP ไทยขยายตัวต่ำเพียง 2.5% ในปี 2567 และมีความไม่แน่นอนด้านกำลังซื้อแม้มีมาตรการภาครัฐกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ที่ยังอ่อนแอลากยาว ประกอบกับแรงส่งจากกลุ่มภาคบริการที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวเริ่มจำกัด เนื่องจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เทียบปีก่อนไม่ได้สูงมากเหมือนปีก่อนและใกล้เข้าสู่ระดับก่อนโควิด อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด นอกจากนี้ด้านการก่อสร้างภาคเอกชนยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ จากทั้งการออกโครงการใหม่ที่ยังลดลงและจากความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังมีต่อเนื่องจากปัญหาด้านเครดิต แม้ในช่วงแรกเศรษฐกิจไทยจะมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ แต่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจะเริ่มมีมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากประเด็นสงครามการค้าที่จะกระทบภาคการผลิตและลามไปสู่ภาคการบริโภค

2. เงินเฟ้อเสี่ยงไม่ถึงกรอบล่างที่ 1% - ทั้งจากกำลังซื้อคนในประเทศที่ยังอ่อนแอจนผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ขยับสูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้ และจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจากความคลี่คลายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ และไม่เข้ากรอบล่างของกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3%

3. กำลังซื้อครัวเรือนรายได้น้อยและ SMEs อ่อนแอ ห่วงลามไปกระทบธุรกิจขนาดใหญ่ – เราเริ่มเห็นสินเชื่อที่หดตัวในธุรกิจขนาดเล็กและหลากหลายสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์และเช่าซื้อ จนอาจกระทบสภาพคล่องของธุรกิจขนาดใหญ่ ธปท.อาจพิจารณาหามาตรการดูแลไม่ให้เกิดการลามจนกระทบภาคส่วนอื่นและสถาบันการเงินโดยรวม นอกจากนี้ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อน่าจะมีส่วนสนับสนุนให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลง ทั้งระดับเทียบ GDP และทั้งมูลค่าในรูปเงินบาท ซึ่งเป็นเรื่องดีในด้านเสถียรภาพตลาดการเงินในระยะยาว และธปท.น่าจะคลายความกังวลในประเด็นนี้ได้ในระดับหนึ่งจนสามารถผ่อนคลายมาตรการทางการเงินได้มากขึ้น

4. ป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า – สงครามการค้าน่าจะมีความชัดเจนและรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งมีการตอบโต้จากชาติที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี จนอาจทำให้การค้าโลกอ่อนแอลง จนกระทบภาคการผลิต การจ้างงาน การส่งออกและการบริโภคในประเทศ ซึ่งอาจต้องอาศัยมาตรการป้องกันผลกระทบหรือลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากมาตรการที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

5. พยุงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ – ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐนับจากต้นปี แม้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าเทียบสกุลสำคัญๆ และสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย จนทำให้เงินบาทดูจะแข็งค่าเทียบสกุลคู่ค้าอื่นจนทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ซึ่งหากจะใช้มาตรการทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็พอจะช่วยลดความน่าสนใจในการลงทุนสกุลเงินบาท โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งพอจะช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นได้บ้าง

ลดดอกเบี้ยรอบนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ หรือพยายามรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสให้ทรงตัว ไม่ปรับลดลง ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้อาจขยายตัวต่ำในช่วงแรกแม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องด้วยความเสี่ยงด้านเครดิตยังสูง จากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวช้าและไม่กระจายตัวดีเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังกดดันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ ขณะที่สินเชื่อกลุ่ม SMEs ยังคงหดตัวได้อยู่ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเราคาดหวังมาตรการทางการคลัง ทั้งการก่อสร้าง การจ้างงาน และการลดค่าครองชีพต่าง ๆ มาช่วงพยุงกำลังซื้อในกลุ่มล่างนี้ เนื่องด้วยจะหวังพึ่งมาตรการทางการเงินอย่างเดียวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคงไม่ได้ อีกทั้งอาจมีความเสี่ยงด้านกับดักสภาพคล่อง หรือการที่สินเชื่อไม่ขยายตัวแม้ลดดอกเบี้ยด้วยจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ จึงต้องมีการประสานของหลากหลายนโยบายเข้าด้วยกันเพื่อเร่งความเชื่อมั่น

ไทยลดดอกเบี้ยก่อนเฟดได้หรือไม่

ส่วนที่มีความกังวลว่าไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้หรือไม่นั้น เรามองว่า ธปท.สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีอิสระจากธนาคารกลางสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ แม้อาจต้องพิจารณาผลกระทบด้านความผันผวนของทุนเคลื่อนย้ายบ้าง แต่น่าอาศัยเครื่องมือบริหารความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ในการดูแลลูกค้าและนักลงทุน ทั้งนี้ เราคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยรอบ 18-19 มีนาคม และอาจลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในรอบ 17-18 มิถุนายน และ 9-10 ธันวาคม สู่ระดับ 4.00% ในปีนี้ ส่วนกนง. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.50% ในช่วงปลายปีนี้ โดยกนง.เหลือการประชุมอีก 5 นัด คือ 30 เมษายน (คงเพื่อรอดูความชัดเจนและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์) 25 มิถุนายน (ลดเหลือ 1.75% หลัง GDP 1Q25 ที่สภาพัฒน์ฯจะรายงานวันที่ 19 พ.ค. ออกมาต่ำกว่าคาด) 13 สิงหาคม (ลดเหลือ 1.50% เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหลังสงครามการค้าชัดเจนว่าไทยได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกที่โตต่ำลง) 8 ตุลาคม (คง) และ 17 ธันวาคม (คง)

อย่ามัวแต่ระวัง

หลายสำนักคาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ ซึ่งในความเป็นจริงก็น่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณใด ๆ จากธปท. ถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังมีการย้ำถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายหรือเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น แต่ที่ผมมองต่าง และมองว่ากนง.น่าจะทบทวนปัจจัย

แวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากการประชุมครั้งก่อน และจากทิศทางตัวเลขเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอนาคต จนน่าจะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือนกุมภาพันธ์นี้ อีกทั้งหากไม่ได้ปรับลดในรอบนี้ นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินส่วนใหญ่ก็มองว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมหน้าในเดือนเมษายนอยู่แล้ว ผมจึงมองว่าการปรับลดก่อนน่าจะสร้างความเชื่อมั่นและมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงหนึ่งถึงสองเดือน แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากธปท.จะส่งผ่านถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในเวลาไม่นาน แต่กว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการผลิตสินค้าและบริการ จนเกิดเงินหมุนเวียนผ่านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือส่งผ่านกลไกอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าต่าง ๆ ยังต้องใช้เวลาราว 6-12 เดือน ซึ่งก็อาจเห็นผลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสสามถึงไตรมาสสี่ หรือในช่วงที่ผมคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้น อย่างน้อยก็พอป้องกันไม่ให้ไถลลงลึกหรือพอประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะหากรอนานเกินไป จนทุกอย่างสุกงอม มีความชัดเจน แม้จะดูเหมือนปลอดภัยในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ก็อาจทำให้เราขาดโอกาสในการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่องลากยาวได้ สุดท้าย นโยบายการเงินไม่ใช่พระเอก แต่ต้องเป็นการประสานกับนโยบายการคลังที่ดูแลด้านความเหลื่อมล้ำและมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างยั่งยืน
 
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.พ. 2568 เวลา : 21:15:57
23-02-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ราคาทองวันนี้ 22/02/2568 ปรับเพิ่ม 100 บาท ราคาทองคำแท่ง 46,700 บาท

2. ดาวโจนส์ปิดร่วง 748.63 จุด กังวลภาวะเศรษฐกิจ-ภาษีศุลกากร

3. ทองคำนิวยอร์กปิดลบ $2.90 จากแรงขายทำกำไรหลังทำนิวไฮ

4. พยากรณ์อากาศ ประจำวันที่ 22 ก.พ.2568 ภาคกลาง อากาศร้อนในตอนกลางวัน ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่

5. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (21 ก.พ.68) บวก 0.60 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,246.21 จุด

6. ประกาศ กปน.: 26 ก.พ. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) และถนนพระรามที่ 1

7. หุ้นไทยปิดเช้าบวก 1.86 จุด มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 26,511.63 ล้านบาทแกว่งผันผวน ได้แรงซื้อกลุ่ม GULF หนุน คาดบ่ายไซด์เวย์

8. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,910 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,955 เหรียญ

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 ก.พ.68) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

11. กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตต. ฝนฟ้าคะนอง 20% ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 30%

12. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 ก.พ.68) ทำนิวไฮ บวก 20 เหรียญ กังวลภาษีทรัมป์หนุนแรงซื้อทองสินทรัพย์ปลอดภัย

13. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (20 ก.พ.68) ลบ 450.94 จุด หวั่นผลกระทบมาตรการภาษีทรัมป์ ฉุดผลประกอบการวอลมาร์ทร่วง

14. ทองเปิดตลาดวันนี้ (21 ก.พ. 68) ร่วงลง 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 47,100 บาท

15. ตลาดหุ้นไทยเปิด (21 ก.พ.68) ลบ 2.08 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,243.53 จุด

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 23, 2025, 3:57 am