
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ร่วมกับกลุ่มบริษัทโชรากา ประเทศมาเลเซีย จัดอบรมความรู้ด้านการเงินอิสลามเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบสัญญาทางการเงินอิสลาม ภายใต้หลักการ “ตะวัรรุก” (Tawarruq) โดยมี ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และ ดาตุ๊ก โมฮัมหมัด ฮัสนุล อิสมาร์ โมฮัมหมัด อิสมาอิล ประธานกลุ่มบริษัทโชรากา ร่วมให้เกียรติกล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการอบรมในหัวข้อ "Application of Tawarruq in Islamic Banking" ณ ห้องกำปั่นทอง ชั้น 21 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568

วัตถุประสงค์ของการอบรมครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการซื้อขายรูปแบบตะวัรรุก ซึ่งเป็นที่ยอมรับในประเทศมาเลเซียและแถบประเทศตะวันออกกลาง โดยมีความแตกต่างจากหลักการซื้อขายทั่วไปและหลักการซื้อขายรูปแบบบัยอ์ อัล อีนะห์ และสามารถนำความรู้จากทฤษฏีที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับระบบ Fintech ภายใต้แพลตฟอร์ม Shoraka Al-Amin (SAA) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสถาบันการเงินอิสลามชั้นนำเพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินสอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ พร้อมทั้งยังได้เปิดมุมมองถึงการขยายตัวของการเงินอิสลามในประเทศมาเลเซียและทั่วโลก ซึ่งล่าสุดในปี 2566 ปริมาณสินทรัพย์ทางการเงินอิสลามทั่วโลกมีขนาดเท่ากับ 4.925 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคการธนาคารและพันธบัตรอิสลาม ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2560 การเงินอิสลามมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะโตต่อเนื่องไป จนถึงปี 2571 สินทรัพย์ทางการเงินอิสลามคาดว่าจะมีปริมาณถึง 7.528 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว สองร้อยห้าสิบห้าล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศที่มีสินทรัพย์ทางการเงินอิสลามมากที่สุดในโลก ได้แก่ประเทศอิหร่าน รองลงมาคือซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต และ คูเวต ตามลำดับ สำหรับในแง่ของการพัฒนาพบว่าประเทศมาเลเซีย มีการพัฒนาด้านการเงินอิสลามสูงสุดของโลก ตามด้วย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต อินโดนีเซีย และปากีสถาน ปี 2566 มีการเติบโตของการเงินอิสลามประมาณ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้น 1,981 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิวัฒนาการการเติบโตของระบบการเงินการธนาคารอิสลามในประเทศมาเลเซียตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่รัฐบาลสร้างอีโคซิสเต็มในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินอิสลามโลก

การอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากประเทศมาเลเซีย คุณ วัน รีซัยดี วัน มาหมัด ซูฟี รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันนานาชาติอิสรา อาจารย์โมฮัมหมัด บาห์รดดิน บัดรี หัวหน้าที่ปรึกษา สถาบันนานาชาติอิสรา ดาตุ๊ก โมฮัมหมัด ฮัสนุล อิสมา โมฮัมหมัด อิสมาอิล ประธานกลุ่มบริษัทโชรากา คุณซุลกิฟลี โมฮัมหมัด โนร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชรากา โกลบอล รีซอร์สเซส นอกจากนี้ยังมี ตึงกู ดาโต๊ะ อะหมัด เบอร์ฮานุดดิน ตึงกู ดาตุ๊ก ศรี อัดนัน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มะรอนิง สาแลมิง ประธานที่ปรึกษา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเงินอิสลาม ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมกว่า 80 คน ครอบคลุมกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร กรรมการและผู้บริหารระดับสูงบริษัท อะมานะห์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานกำกับ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข่าวเด่น