เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาทแข็งค่าช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยยังปรับตัวลงต่อเป็นสัปดาห์ที่ 4"


สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 
• เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาตามแรงหนุนทองคำในตลาดโลก
 
เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนท่าทีระมัดระวังต่อแรงกดดันเงินเฟ้อและอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินเยน (ที่มีแรงหนุนในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก (ซึ่งยังได้รับอานิสงส์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และประเด็นสงครามการค้า)

 
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันหลังจากบันทึกการประชุมเฟดระบุว่า เฟดมีการหารือกันเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอการปรับลดงบดุลของเฟด ประกอบกับเครื่องชี้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด [จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 5,000 ราย ไปที่ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดคาดที่ 215,000 ราย] นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังตลาดรับรู้การเตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยาของสหรัฐฯ ไปแล้วบางส่วน 
 
• ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-21 ก.พ. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,177 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,463 ล้านบาท
 
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 24-28 ก.พ. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (26 ก.พ.) ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค. ของไทย สัญญาณและรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (Prelim.) รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของยูโรโซนและผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
 
• ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามแรงขายหุ้นบิ๊กแคปและความกังวลต่อประเด็นนโยบายการค้าและทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ  
 
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 1,236.80 จุดช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันหลัก ๆ มาจากแรงขายหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน (กังวลเรื่องผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของคู่ค้า) และหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง (หลังผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้หลายบล. แนะนำขาย) ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนจนถึงช่วงกลางสัปดาห์ตามรายงานข่าวที่ว่ากระทรวงการคลังเตรียมเปิดกองทุน Thai ESG ใหม่เพื่อรองรับเม็ดเงินจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนด 
 
ดัชนีหุ้นไทยพลิกร่วงอีกครั้งในเวลาต่อมาสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ ยาและเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับบันทึกการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีแรงขายของนักลงทุนชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์หลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวได้ดีโดยมีแรงหนุนจากการประกาศจ่ายเงินปันผล รวมถึงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ขยับขึ้นเช่นกันจากข่าวที่ว่า ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV  

 
• ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,246.21 จุด ลดลง 2.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 52,240.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.59% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.82% มาปิดที่ระดับ 270.49 จุด
 
• สัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.พ. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,235 และ 1,225 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,270 และ 1,285 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทย การประชุมกนง. (26 ก.พ.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนม.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (ครั้งที่ 2) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของยูโรโซน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ของญี่ปุ่น 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.พ. 2568 เวลา : 22:20:14
23-02-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ราคาทองวันนี้ 22/02/2568 ปรับเพิ่ม 100 บาท ราคาทองคำแท่ง 46,700 บาท

2. ดาวโจนส์ปิดร่วง 748.63 จุด กังวลภาวะเศรษฐกิจ-ภาษีศุลกากร

3. ทองคำนิวยอร์กปิดลบ $2.90 จากแรงขายทำกำไรหลังทำนิวไฮ

4. พยากรณ์อากาศ ประจำวันที่ 22 ก.พ.2568 ภาคกลาง อากาศร้อนในตอนกลางวัน ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่

5. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (21 ก.พ.68) บวก 0.60 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,246.21 จุด

6. ประกาศ กปน.: 26 ก.พ. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) และถนนพระรามที่ 1

7. หุ้นไทยปิดเช้าบวก 1.86 จุด มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 26,511.63 ล้านบาทแกว่งผันผวน ได้แรงซื้อกลุ่ม GULF หนุน คาดบ่ายไซด์เวย์

8. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,910 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,955 เหรียญ

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 ก.พ.68) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

11. กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตต. ฝนฟ้าคะนอง 20% ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 30%

12. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 ก.พ.68) ทำนิวไฮ บวก 20 เหรียญ กังวลภาษีทรัมป์หนุนแรงซื้อทองสินทรัพย์ปลอดภัย

13. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (20 ก.พ.68) ลบ 450.94 จุด หวั่นผลกระทบมาตรการภาษีทรัมป์ ฉุดผลประกอบการวอลมาร์ทร่วง

14. ทองเปิดตลาดวันนี้ (21 ก.พ. 68) ร่วงลง 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 47,100 บาท

15. ตลาดหุ้นไทยเปิด (21 ก.พ.68) ลบ 2.08 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,243.53 จุด

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 23, 2025, 4:06 am