เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
KKP ปรับลด GDP เหลือ 2.3% ชี้ไทยเสี่ยงโตต่ำเพิ่มจากนักท่องเที่ยวจีนหด และนโยบาย Trump พร้อมคาดการณ์ กนง. ลดดอกเบี้ยต่อถึง 1.25%


KKP Research ประเมินเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มโตต่ำและเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ฯ โดยพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจปี 2024 ที่เติบโตได้ค่อนข้างต่ำเพียง 2.5% แม้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีและมีมาตรการแจกเงินขนาดใหญ่จากภาครัฐแล้วก็ตาม บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนจากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาดประมาณ 25% ของ GDP แต่หดตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม  ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและกระจุกตัวมากขึ้น จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้ อีกทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ยังจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มที่อาจต่ำกว่า 2.0% ภายในปี 2035 
 
สำหรับปี 2025 KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026
 
ท่องเที่ยวจีนไม่มา ชั่วคราวหรือถาวร ?
 
จำนวนนักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่ช่วงหลังตรุษจีนมาเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลงจากประมาน 6 แสนคนต่อเดือน หรือ 60% ของช่วงก่อนโควิด ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 4 แสนคน หรือ 35% ของช่วงก่อนโควิดซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2023 ประเด็นที่น่ากังวล คือ สัญญาณการฟื้นตัวที่ช้าของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราวและอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าลงในระยะยาว
 
1) นักท่องเที่ยวจีนมีความนิยมเที่ยวในประเทศมากขึ้น ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนฟื้นตัวช้ากว่าการท่องเที่ยวในประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยการท่องเที่ยวต่างประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 13.5% ในขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 6.4% ซึ่งอาจสะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนมีความชื่นชอบในการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น 
 
2) การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย โดยจำนวนเที่ยวบินจากจีนไปยังญี่ปุ่นและมาเลเซียมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 อย่างชัดเจน นอกจากนี้เหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงจีนในไทยยังเพิ่มความกังวลกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวไทย 
 
3) กรุ๊ปทัวร์จีนคือกลุ่มหลักที่ไม่กลับมา โดยแม้นักท่องเที่ยวทั่วไป (Free Individual Traveler) จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้กว่า 77% ของช่วงก่อนโควิด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ยังคงไม่กลับมาในระดับเดิม โดยอยู่เพียงระดับประมาณ 45% ของจำนวนช่วงก่อนโควิดเท่านั้น 
 
KKP Research ประเมินว่าหากนักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมาฟื้นตัวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยอาจไม่สามารถกลับไปแตะระดับ 40 ล้านคนเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้เร็วตามคาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด โดย KKP Research ปรับประมาณการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2025 เป็น 37.2 ล้านคน จาก 38.1 ล้านคน และปี 2026 เป็น 39.9 ล้านคนจาก 40.6 ล้านคน 
 
เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ
 
KKP Research ประเมินว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ เป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค โดยมีโอกาสสูงที่ไทยจะอยู่ในรายชื่อกลุ่มแรกของการเรียกเก็บภาษี reciprocal tariffs ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลสองส่วน คือ 1) การเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ ในระดับสูง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 11 ของโลกที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ มากที่สุด 2) ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีเฉลี่ยตามน้ำหนักการค้าที่ไทยคิดกับสหรัฐ ฯ และสหรัฐ ฯ คิดกับไทยถือว่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศกลุ่ม Emerging Markets และสูงที่สุดใน ASEAN และไทยยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอีกด้วย
 
KKP Research ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูงมากและยังไม่ได้รวมผลกระทบไว้ในการประเมินตัวเลข GDP โดยมี 4 ปัจจัยหลักที่ต้องประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษี คือ 1) ขนาดของภาษีที่สหรัฐ ฯ จะขึ้นกับไทย 2) ผลต่อการชะลอตัวของการส่งออกของไทยจากการขึ้นภาษี 3) มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และ 4) ระยะเวลาที่ไทยจะถูกขึ้นภาษี โดยประเมินว่า
 
1) อัตราภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บจากสหรัฐฯ จะอยู่ในช่วง 10% - 20% โดยคำนวณจากส่วนต่างของอัตราภาษีที่ไทยคิดกับสหรัฐ ฯ และสหรัฐ ฯ คิดกับไทย อย่างไรก็ตามอัตรานี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง 
 
2) มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ในประเทศจากสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 30% - 40%  ในช่วงก่อนปี 2020 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างสูงที่ประมาน 50% - 60% อย่างไรก็ตามตั้งแต่หลังปี 2020 การเติบโตของการส่งออกเกิดจากการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในประเทศในระดับต่ำมาก ทำให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยในปัจจุบันลดต่ำลง
จากสองปัจจัยสำคัญ KKP Research คาดการว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะอยู่ในช่วง 0.2 – 0.4ppt หากมีการประกาศขึ้นภาษีจริงและอัตราภาษีคงไว้ทั้งปี ผลกระทบดังกล่าวไม่รวมถึงผลจากข้อเสนอที่ไทยอาจต้องเจรจาเพื่อให้สหรัฐปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงมา ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมโดยต้องจับตาช่วงต้นเดือนเมษายน ที่สหรัฐฯ จะมีการประกาศเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าเพิ่มเติม
 
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมีแนวโน้มให้ผลจำกัด
 
มาตรการแจกเงินผ่านนโยบาย Digital Wallet เป็นความหวังของภาครัฐว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ส่งผลบวกน้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยมาตรการแจกเงินใน 2 ระยะแรกคิดเป็นเงินมูลค่ารวมกว่า 1.77 แสนล้านบาท แต่การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีโดยเฉพาะเมื่อไม่รวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทำให้แม้ว่าภาครัฐมีการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการแจกเงินระยะที่สามซึ่งจะแจกคนเป็นจำนวน 2.7 ล้านคนอายุระหว่าง 16-20 คิดเป็นเงิน 2.7 หมื่นล้านบาทและจะเริ่มแจกช่วงไตรมาส 2 ของปี และการแจกเงินระยะสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จากขนาดของการแจกเงินที่เล็กลง KKP Research ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีจำกัดโดยคาดว่าการบริโภคจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับระดับที่เคยประเมินไว้ 
 
คาด ธปท. ลดดอกเบี้ยถึง 1.25% ในปี 2026 
 
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนตุลาคมและเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลงมาที่ระดับ 2% ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับที่ KKP Research ประเมินไว้ว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงเหลือ 1.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวจากการหดตัวของสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อที่ยังคงแย่ ส่งผลให้ KKP Research คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2 ครั้งในปี 2025 และอีก 1 ครั้งในปี 2026 และทำให้อัตราดอกเบี้ยสุดท้าย (Terminal rate) ในรอบการลดดอกเบี้ยนี้จะอยู่ที่ 1.25% เหตุผลสำคัญที่เชื่อว่าดอกเบี้ยควรลดลงเพิ่มเติม คือ 
 
1) ปัญหาด้านความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินลดน้อยลงมาก จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และสินเชื่อภาคธนาคารหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณหนี้ต่อ GDP ของไทยเริ่มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการสื่อสารของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาที่กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้จะไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน 
 
2) สัญญาณในตลาดการเงินหลายส่วนสะท้อนว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอาจตึงตัวมากเกินไป อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีต นอกจากนี้สัญญาณของตลาดการเงินทั้งเงินบาทที่แข็งค่า อัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยระยะยาวที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อาจส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเกินไป
 
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://media.kkpfg.com/document/2025/Mar/KKP%20Research_gdp-cut-to-2-point-3-due-to-tourism_edit.pdf )

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มี.ค. 2568 เวลา : 13:13:21
09-05-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (8 พ.ค.68) ร่วง 85.90 เหรียญ หลังสหรัฐ-อังกฤษ บรรลุข้อตกลงการค้า

2. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (8 พ.ค.68) พุ่ง 254.48 จุด ขานรับ "สหรัฐ-อังกฤษ" บรรลุข้อตกลงการค้า

3. อุตุฯเตือนระวัง "พายุฤดูร้อน" วันนี้ "ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก" ฝนฟ้าคะนอง 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคกลาง 30% ภาคใต้ 30-40%

4. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์

5. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์

6. ทองเปิดตลาดวันนี้ (9 พ.ค. 68) ร่วงลง 350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,450 บาท

7. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) บวก 6.28 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,212.87 จุด

8. ประกาศ กปน.: 13 พ.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านใต้) และถนนอนามัยงามเจริญ

9. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (8 พ.ค.68) ลบ 13.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,206.59 จุด

10. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (8 พ.ค.68) ลบ 7.43 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,212.84 จุด

11. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (7 พ.ค.68) ร่วง 30.90 เหรียญ รับสงครามการค้าส่งสัญญาณคลี่คลาย

12. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,380 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,425 เหรียญ

13. ทั่วไทยฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ภาคใต้ ฝน 40-60% ภาคตะวันออก 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคกลาง 30% ภาคเหนือ 20%

14. ทองเปิดตลาดวันนี้ (8 พ.ค. 68) พุ่งขึ้น 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 53,600 บาท

15. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.00 บาท/ดอลลาร์

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2025, 1:11 pm