
SCB EIC คาดว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากผลผลิตและราคาน้ำมันปาล์มดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ความต้องการบริโภคจะลดลง โดยผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในปี 2025 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.3%YOY เป็น 3.4 ล้านตัน จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.0 ล้านตัน ตามเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตต่อไร่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณฝนที่เพียงพอ ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยโดยเฉลี่ยในปี 2025 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6%YOY มาอยู่ที่ 37.8 บาท/กิโลกรัม ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกจะลดลง จากความต้องการบริโภคโลกที่จะปรับตัวเร่งขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มดิบอันดับ 1 ของโลกประกาศเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก B35 เป็น B40 ในปี 2025 สำหรับอุปสงค์น้ำมันปาล์มดิบของไทยในปี 2025 มีแนวโน้มอยู่ที่ 3.3 ล้านตัน ปรับตัวลดลง 3.4%YOY โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้เพื่อผลิตไบโอดีเซลมีแนวโน้มลดลง ตามนโยบายลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลของภาครัฐ ในขณะที่การบริโภคในประเทศและการส่งออกยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นสินค้าทดแทน การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานทางเลือกของภาครัฐ และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนรุนแรง ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการบริโภค ผลผลิตและราคาน้ำมันปาล์มดิบ
อนึ่ง อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกำลังเผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีกำลังการผลิตเพื่อแปรรูปปาล์มน้ำมันสูงกว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันราว 1 เท่า ทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันจัดหาผลปาล์มน้ำมันมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันปาล์มที่ผันผวนสูงและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันพัฒนาความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านราคาและมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สามารถจัดการความเสี่ยงด้านราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
Industry overview
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย โดยความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันและสภาพอากาศที่แปรปรวน เป็นความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยอุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรต้นน้ำในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ จะกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่โรงงานผลิตได้ ซึ่งในปี 2024 ไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 3.3 ล้านตัน และมีสต็อกยกมาจากปี 2023 จำนวน 0.3 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตที่ได้รวม 3.6 ล้านตัน โดยผลผลิตที่ได้โดยส่วนใหญ่ราว 69.9% หรือ 2.5 ล้านตันจะใช้ในประเทศ ทั้งการนำไปกลั่นให้กลายเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันโอเลอินจำนวน 1.5 ล้านตัน (57.7% ของการใช้ในประเทศ) และการนำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล 1.1 ล้านตัน (42.3% ของการใช้ในประเทศ) โดยน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จะถูกนำไปใช้เป็นน้ำมันทอดในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่วนน้ำมันโอเลอินจะถูกนำไปใช้บริโภคในภาคครัวเรือน โดยความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและส่วนต่างราคาน้ำมันปาล์มและราคาน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลือง ในขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะขึ้นอยู่กับนโยบายกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลของภาครัฐเป็นหลัก สำหรับผลผลิตที่ได้อีก 24.5% หรือ 0.9 ล้านตัน จะถูกใช้เพื่อส่งออก โดยในปี 2024 มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 26,297 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปอินเดียคิดเป็น 98.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งในการส่งออก ไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันกับผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินโดนีเซีย (ปี 2024 ส่งออก 22.3 ล้านตัน) และมาเลเซีย (ปี 2024 ส่งออก 16.5 ล้านตัน) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทำให้ภาครัฐต้องอุดหนุนส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ กิโลกรัมละ 2 บาท ในช่วงที่ผลผลิตเกินความต้องการบริโภคในประเทศจนทำให้ระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 0.3 ล้านตัน ทั้งนี้ผลผลิตที่ได้อีก 5.6% จะเหลือเก็บไว้เป็นสต็อกในประเทศ
รูปที่ 1 : โครงสร้างธุรกิจน้ำมันปาล์ม
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของบริษัทน้ำมันปาล์มในตลาดหลักทรัพย์
ในช่วงปี 2022-2024 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้องเผชิญกับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของนโยบายพลังงานทางเลือกของภาครัฐ ความไม่แน่นอนด้านการดำเนินนโยบายน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียและปัญหาภัยแล้ง โดยในปี 2022 ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลหดตัวสูงถึง 19.8%YOY จากการที่ภาครัฐมีนโยบายปรับสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ลงจาก B7 B10 และ B20 มาอยู่ที่ B5 (ผสมไบโอดีเซล 5 ส่วน ต่อน้ำมันดีเซล 95 ส่วน) เพื่อลดต้นทุน B100 ที่สูง และต่อมาปรับเป็น B7 (ม.ค. 2023 - ต.ค. 2024) ก่อนลดลงเป็น B5 อีกครั้งตั้งแต่ พ.ย. 2024 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิต B100 มีความไม่แน่นอนสูงและยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงนโยบายในปี 2021 นอกจากนี้ นโยบายควบคุมการส่งออกของอินโดนีเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบอันดับ 1 ของโลก) ทำให้ราคาผันผวนรุนแรง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 อินโดนีเซียมีนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 53.2 บาทต่อกิโลกรัม แตกต่างจากช่วงครึ่งปีหลัง ที่ราคาโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 33.9 บาทต่อกิโลกรัม หรือปรับตัวลดลงสูงถึง 36.2% เนื่องจากอินโดนีเซียมีการยกเลิกนโยบายควบคุมการส่งออก โดยราคาที่ผันผวนรุนแรงสร้างความท้าทายต่อการบริหารสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการไทย ส่วนปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2023 มีส่วนทำให้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันปรับตัวลดลง 4.5%YOY
Industry outlook and trend
SCB EIC คาดว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากผลผลิตและราคาน้ำมันปาล์มดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ความต้องการบริโภคจะลดลง ปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบปี 2025 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.3%YOY เป็น 3.4 ล้านตัน ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็น 19.0 ล้านตัน จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในปี 2022 ที่เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ประกอบกับผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มดีขึ้น จากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน (รูปที่ 2) ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยโดยเฉลี่ยในปี 2025 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6%YOY มาอยู่ที่ 37.8 บาท/กิโลกรัม ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกมีแนวโน้มลดลง จาก 1) ความต้องการบริโภคโลกที่จะปรับตัวเร่งขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซีย (ผู้บริโภคน้ำมันปาล์มดิบอันดับ 1 ของโลก) ประกาศเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก B35 เป็น B40 ในปี 2025 และ 2) ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในมาเลเซีย (ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก) ในปี 2025 มีแนวโน้มลดลง 2.6%YOY จากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าทดแทน มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ อาจจำกัดการปรับขึ้นของราคาน้ำมันปาล์ม (รูปที่ 3) สำหรับอุปสงค์น้ำมันปาล์มดิบของไทยในปี 2025 มีแนวโน้มอยู่ที่ 3.3 ล้านตัน ปรับตัวลดลง 3.4%YOY ตามความต้องการใช้เพื่อผลิตไบโอดีเซลที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 25.6%YOY มาอยู่ที่ 0.8 ล้านตัน จากการปรับสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซลลงจาก B7 มาอยู่ที่ B5 ในขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 1.9%YOY มาอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่วนปริมาณการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 1.0 ล้านตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.6%YOY จากผลผลิตส่วนเกินในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยความต้องการบริโภคที่ต่ำกว่าผลผลิตจะทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบปลายปี 2025 เพิ่มขึ้นเป็น 0.3 ล้านตัน จาก 0.2 ล้านตันในปี 2024
รูปที่ 2 : ปริมาณผลปาล์มน้ำมันของไทยในปี 2025 มีแนวโน้มอยู่ที่ 19 ล้านตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9%YOY ตามเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในปี 2022 ซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ IRI
รูปที่ 3 : ราคาน้ำมันปาล์มดิบในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการบริโภคจะเติบโตเร่งขึ้น สวนทางกับผลผลิตในมาเลเซียที่จะลดลง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน, USDA และ World Bank
อนึ่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในปี 2025 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันถั่วเหลืองโลก นโยบายพลังงานทางเลือกของภาครัฐ และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนรุนแรง โดยภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันถั่วเหลืองโลก จะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกและไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่รุนแรงกว่าคาด และราคาน้ำมันถั่วเหลืองโลกลดลงมากกว่าคาด ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มเติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบโลกและไทยเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดหรืออาจลดลง ในขณะที่นโยบายพลังงานทางเลือกของไทย จะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซล ซึ่งหากราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก จนภาครัฐมีนโยบายปรับสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซลไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า B5 ก็จะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันปาล์มดิบของไทยปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด ส่วนความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ โดยหากไทยเผชิญภัยแล้งหรือน้ำท่วม ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบอาจเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาด หรืออาจลดลง
ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และกระแสความยั่งยืน โดยมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต เช่น การเก็บภาษีคาร์บอนทั้งในและต่างประเทศ จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำมันปาล์มปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต
Competitive landscape
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน โดยผู้เล่นจะเน้นแข่งขันกันในด้านการจัดหาวัตถุดิบ ลดต้นทุน บริหารความเสี่ยงด้านราคาและมุ่งสู่ความยั่งยืน
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลางน้ำของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขยายกำลังการผลิตอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม มีการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 105 ตันผลปาล์มสดต่อชั่วโมงในปี 2007 มาอยู่ที่ 340 ตันผลปาล์มสดต่อชั่วโมงในปี 2023 พร้อมกันนั้น อุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้จำนวนโรงสกัดน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจาก 43 โรงงานในปี 2003 มาอยู่ที่ 120 โรงงานในปี 2024 ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นจาก 13 โรงงานมาอยู่ที่ 22 โรงงานในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งการขยายกำลังการผลิตของผู้เล่นกลางน้ำที่ไม่สอดคล้องกับการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรต้นน้ำ ทำให้เกิดภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน สะท้อนได้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2019 - 2023 อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 49.8% และ 39.2% ตามลำดับ ซึ่งต่างจากมาเลเซีย (ข้อมูลจากคณะกรรมการน้ำมันปาล์มมาเลเซีย (MPOB)) ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 62.9% และ 63.4% ตามลำดับ
ผู้ประกอบการจะเน้นแข่งขันในด้านการจัดหาวัตถุดิบ การลดต้นทุนการผลิต การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน ภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันจัดหาผลปาล์มน้ำมันมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลง โดยผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์ด้านราคาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร เพื่อดึงดูดให้เกษตรกรนำผลปาล์มสดมาขายให้โรงงาน พร้อมกันนั้น ผู้ประกอบการก็มีการแข่งขันกันลดต้นทุนการผลิต ผ่านการขยายกำลังการผลิต เพื่อใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) และเน้นพัฒนาความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านราคา ผ่านการบริหารจัดการสต็อก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการใช้น้ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบด้านความยั่งยืน เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สามารถจัดการความเสี่ยงด้านราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ในปี 2023 บริษัทน้ำมันปาล์ม 10 อันดับแรกมีส่วนแบ่งรายได้รวม 44.7% ของรายได้ทั้งหมดในหมวดธุรกิจการผลิตน้ำมันปาล์ม โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม มีส่วนแบ่งรายได้มากเป็นอันดับ 1 ที่ 8.4% ตามมาด้วย พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ (5.1%), ล่ำสูง (5.0%), ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม (4.6%), ไทยทาโลว์แอนด์ออยล์ (4.2%), กลุ่มสมอทอง (3.7%), สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม (3.6%), กรีน โกลบอล ปาล์มเมอร์ (3.6%), ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (3.3%) และกลุ่มปาล์มธรรมชาติ (3.2%) โดยในระยะต่อไป คาดว่าส่วนแบ่งรายได้จะกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิตของผู้เล่นรายใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กแข่งขันได้ยากและทยอยออกจากตลาด
ภาคผนวก
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ข่าวเด่น