เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "แนวโน้มธุรกิจปุ๋ยเคมีไทย"


· ในปี 2568 ยอดขายปุ๋ยเคมีของไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 94,602 ล้านบาท หรือโต 2% ชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 7.7% เนื่องจากเผชิญปัจจัยบวกที่แผ่วลงจากปี 2567 ตามความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีที่โตชะลอ และราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศที่ปรับลดลง

· ราคาขายปุ๋ยเคมีไทยในปี 2568 คาดลดลง 3.4% จะช่วยหนุนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีไทยโต 5.7% ไปอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน ตามการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากขึ้น อย่างไรก็ดี คงได้รับแรงกดดันบางส่วนจากราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่ปรับลดลง ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีจะเติบโตชะลอลง

 
ตลาดปุ๋ยเคมีแข่งขันสูงจากผู้เล่นมากราย โดยมีรายกลาง-ใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นหลัก

ปัจจุบันตลาดปุ๋ยเคมีแข่งขันสูงจากผู้เล่นจำนวนมากกว่า 754 ราย1 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นรายเล็ก ซึ่งจะแข่งขันได้ยาก เนื่องจากมีการผลิตปุ๋ยเคมีที่คุณภาพไม่สม่ำเสมอ จึงเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลต่อสัดส่วนจำนวนผู้เล่นลดลงจาก 90.1% ในปี 2564 เป็น 89.5% ในปี 2566 และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้เพียง 7% ขณะที่ผู้เล่นรายกลาง-ใหญ่จะได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และยังมีกลยุทธ์ส่งเสริมการขายต่อเนื่อง จึงสามารถจำหน่ายปุ๋ยเคมีได้ตลอดทั้งปี ทำให้แม้จะมีสัดส่วนจำนวนผู้เล่นเพียง 10% แต่กลับครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 93% (รูปที่ 2)

 
อย่างไรก็ดี อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของธุรกิจปุ๋ยเคมีอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเฉลี่ยที่ราว 15% เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง และผู้ผลิตที่นำเข้าปุ๋ยเคมีต้องมีต้นทุนเพิ่มจากการปกป้องความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวนในบางช่วงเวลา นอกจากนี้ การที่ปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าควบคุม ทำให้ราคาจำหน่ายในประเทศปรับขึ้นได้จำกัด

ยอดขายปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 คาดอยู่ที่ 94,602 ล้านบาท

ในปี 2568 ยอดขายปุ๋ยเคมีไทย คาดว่าจะโต 2.0% ชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 7.7% (รูปที่ 3) เนื่องจากเผชิญปัจจัยบวกที่แผ่วลงจากปี 2567 ตามความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีที่โตชะลอและราคาขายปุ๋ยเคมีที่ปรับลดลง

 
ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 คาดอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน

ในปี 2568 ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีไทย คาดว่าจะเติบโตที่ 5.7% ชะลอลงจากปีก่อนที่โต 25.2% (รูปที่ 4) ทั้งนี้ ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 ได้กลับไปใกล้เคียงกับความต้องการใช้ระดับปกติในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติอุปทานปุ๋ยเคมีโลกตึงตัว ทำให้คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยจากนี้ไปอาจเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก

 
สำหรับปัจจัยสำคัญที่หนุนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 คือ การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยในปีนี้ คาดว่า พื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรหลักทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน (ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน) อาจมีพื้นที่รวมกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ไปอยู่ที่ 122.3 ล้านไร่ (รูปที่ 5) ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น จากปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9%2 ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ยังช่วยหนุนผลผลิตเพิ่มที่ราว 2.3% (รูปที่ 6)

อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2568 (รูปที่ 7) ทำให้เกษตรกรอาจลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเพื่อประหยัดต้นทุน ส่งผลต่อความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีให้เติบโตได้ไม่มากนัก

 
 
ราคาขายปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 คาดลดลงอยู่ที่ 19,975 บาทต่อตัน

ในปี 2568 ราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศ คาดว่าจะปรับลดลง 3.4% (รูปที่ 8) เป็นไปตามราคาวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญเพื่อผลิตปุ๋ยเคมีอย่างน้ำมันดิบ ที่คาดว่าในปี 2568 ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกจะลดลงราว 12%3 ทั้งนี้ ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีเป็นหลัก4 ทำให้ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยจะเป็นทิศทางเดียวกับราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก (รูปที่ 9)

 
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีไทยในระยะกลาง-ยาว

คาดว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีไทยคงโตจำกัด ขณะที่ราคายังเสี่ยงไม่แน่นอนตามตลาดโลก

· แม้จะมีความต้องการบริโภคพืชอาหารรองรับตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร แต่ประเทศผู้นำเข้าอาหารหลักได้หันมาผลิตอาหารเอง จะกดดันการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลักของโลก โดยดัชนีราคาอาหารโลกคาดจะโต 3-5% ต่อปีในปี 2568-2570 (2 เดือนแรกปี 2568 โต 7.3%) อย่างไรก็ดี ประเทศที่บริโภคอาหารรายใหญ่ของ

โลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ได้มีนโยบายผลิตอาหารเองมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้า ผ่านนโยบายในปี 2568 ที่จีนจะเพิ่มผลผลิตข้าวและธัญพืชให้มากกว่า 650 ล้านตันต่อปีและจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงเป็น 72 ล้านเฮกตาร์ รวมถึงสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพลังงานทางเลือก

· ความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของไทยเพิ่มขึ้น จะกระทบการใช้ปุ๋ยเคมี โดยไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2565 ที่เพิ่มถึง 8 เท่าจากปี 2560 มาอยู่ที่ 1.4 ล้านไร่ อีกทั้งภาครัฐยังมีเป้าหมายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ 2 ล้านไร่ในปี 2570 จะหนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ จะสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21.5% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยทั้งหมดในภาคเกษตรโลก

· ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีผันผวนสูงตามราคาน้ำมันดิบโลก จากความไม่แน่นอนหลายด้านของโลก เช่น ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น ที่ส่งผลต่ออุปทานและราคาน้ำมันดิบโลก จะกระทบต่อต้นทุนนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยให้มีความไม่แน่นอน จึงกำหนดราคาขายในประเทศได้ยากและมีผลต่อการทำกำไร
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ค. 2568 เวลา : 18:49:17
11-05-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 10 พ.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนพระรามที่ 4 ตัดถนนรัชดาภิเษก

2. ตลาดหุ้นปิด (9 พ.ค.68) บวก 4.35 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,210.94 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,250 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,340 เหรียญ

4. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (9 พ.ค.68) ลบ 5.67 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,200.92 จุด

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (8 พ.ค.68) ร่วง 85.90 เหรียญ หลังสหรัฐ-อังกฤษ บรรลุข้อตกลงการค้า

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (8 พ.ค.68) พุ่ง 254.48 จุด ขานรับ "สหรัฐ-อังกฤษ" บรรลุข้อตกลงการค้า

7. อุตุฯเตือนระวัง "พายุฤดูร้อน" วันนี้ "ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก" ฝนฟ้าคะนอง 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคกลาง 30% ภาคใต้ 30-40%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์

10. ทองเปิดตลาดวันนี้ (9 พ.ค. 68) ร่วงลง 350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,450 บาท

11. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) บวก 6.28 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,212.87 จุด

12. ประกาศ กปน.: 13 พ.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านใต้) และถนนอนามัยงามเจริญ

13. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (8 พ.ค.68) ลบ 13.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,206.59 จุด

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (8 พ.ค.68) ลบ 7.43 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,212.84 จุด

15. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (7 พ.ค.68) ร่วง 30.90 เหรียญ รับสงครามการค้าส่งสัญญาณคลี่คลาย

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 11, 2025, 2:05 pm