สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
· เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งหลังผลการประชุมเฟด
เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนที่ 32.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก สถานะของเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย และแรงหนุนต่อค่าเงินเอเชียในภาพรวมตามการคาดหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ น่าจะมีสัญญาณเชิงบวกในช่วงข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยล้างช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาตามทิศทางของสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย และเงินหยวนที่มีปัจจัยลบจากการที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยและ RRR ลงเพื่อประคองทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้า ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น หลังการประชุมเฟดซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ไว้ที่กรอบเดิม 4.25-4.50% ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการสรุปดีลการค้าเบื้องต้นระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ออกมาดีกว่าที่คาด
· ในวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.01 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 พ.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 917 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 10,582 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 11,082 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)
· สัปดาห์ระหว่างวันที่ 12-16 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.60-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ราคาทองคำในตลาดโลก ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนเม.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่นเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
· ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน แต่กลับมาปิดบวกได้ช่วงท้ายสัปดาห์ ขานรับข่าวสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้นกับอังกฤษ
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มลดลง รวมถึงหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศหลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของไทยพลิกติดลบ ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ โดยมีปัจจัยหนุนจากรายงานข่าวที่ว่าจีนเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงสหรัฐฯ และจีนเตรียมเจรจาการค้าในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงในเวลาต่อมาหลังตอบรับประเด็นบวกข้างต้นไปพอสมควร ขณะที่นักลงทุนประเมินว่า ต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ขานรับข่าวสหรัฐฯ-อังกฤษบรรลุข้อตกลงการค้า (แต่สหรัฐฯ ยังคงอัตราภาษีพื้นฐาน 10% ไว้ตามเดิม)
· ในวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,210.94 จุด เพิ่มขึ้น 1.00% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,315.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.58% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.31% มาปิดที่ระดับ 254.25 จุด
· สัปดาห์ถัดไป (12-16 พ.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,195 และ 1,185 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,220 และ 1,230 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ของบจ.ไทย ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่น
ข่าวเด่น