
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 2/2568 ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยปัจจัยหลักจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำของสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ประเทศไทย ในอัตรา 36% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม นี้ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออกไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเจรจาต่อรองรอบใหม่ของรัฐบาลไทยกับสหรัฐว่าจะลดอัตราภาษีให้ต่ำลงกว่า 36% ได้เท่าไร เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและภาคการผลิตของไทย

แม้ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดจะบ่งชี้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในหลายภาคส่วน ทั้งการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภค ซึ่ง ธปท. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.6% จากครึ่งปีแรกที่ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้า 36% ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 2% ลากยาวไปถึงปีหน้า จากภาคการส่งออกครึ่งปีหลังที่หดตัวลง ติดลบ 4% และหดตัวต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ติดลบ 2% อีกทั้งการท่องเที่ยวที่เติบโตช้ากว่าที่คาด
“ภาษีตอบโต้ของสหรัฐในครั้งนี้ที่มีต่อไทย แม้ผลกระทบจะไม่แรงและเร็วแบบช่วงโควิด ที่เกิดภาวะ shock แต่จะส่งผลกระทบ ทอดยาว กินเวลาค่อนข้างนาน ต่อภาคการส่งออกและภาวะเศรษฐกิจไทย อย่างน้อยปีครึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาที่จะถูกกระทบมากสุด แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของภาคธุรกิจด้วย“นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพกล่าวต่อไปว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยและระบบการเงินไทย ภายใต้สถานการณ์ท้าทายนี้ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงมีท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความเสี่ยงในระยะข้างหน้า และพร้อมที่จะพิจารณาปรับนโยบายเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจะถูกนำมาพิจารณาอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กนง.ได้รวบรวมปัจจัยดังกล่าวไว้ในการประชุมเพื่อกำหนดแนวโน้มนโยบายแล้ว
ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ธปท. มองว่าจะเกิดก็ต่อเมื่อเกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น วิกฤตการเงินโลก หรือ โควิด-19 แต่ขณะนี้โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession) ยังมีไม่มากนัก
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่ยาวนาน ความทนทานต่อแรงกระแทกจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการดูแลนโยบายการเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวได้ แต่ก็พร้อมที่จะปรับดอกเบี้ยถ้าหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไป
“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังชะลอตัวลงแน่นอน ธปท.จึงปรับลดประมาณการณ์ GDP ปีหน้า เติบโตแค่ 1.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพ”นายปิติ กล่าว
ข่าวเด่น