ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยผลสอบปัญหาการครอบครองที่ดิน ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง(เขาแผงม้า) อุทยานแห่งชาติทับลาน และที่ดินส.ป.ก.ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบละเลยการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งนโยบายแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้อง เกิดความขัดแย้ง และแบ่งเป็นสองฝ่ายโดยฝ่ายปกครองและท้องถิ่นสนับสนุนพร้อมทั้งรับรองสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินของราษฎร ส่งเสริมและกำหนดให้การท่องเที่ยวในเขตอำเภอวังน้ำเขียวเป็นยุทธศาสตร์ของอำเภอส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการเกษตรเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ ไม่ได้ออกสำรวจตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีราษฎรเข้ายึดถือครอบครองและทำประโยชน์อยู่อาศัยทำกิน ทำการเกษตร ก่อสร้างที่พักอาศัย และใช้ประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลานาน จนทำให้ราษฎรที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์หรือราษฎรผู้รับโอนสิทธิการครอบครองต่อนั้น อาจเข้าใจหรือเชื่อโดยสุจริตว่าสามารถกระทำการเช่นนั้นได้ อีกทั้งไม่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามที่ได้มีการรังวัดกันออกให้แล้วเสร็จตามมติครม.เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 แต่กลับเร่งรัดดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรในพื้นที่ หากดำเนินการให้เรียบร้อยพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป
พร้อมยื่นเรื่องเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามข้อเสนอแนะ ฟันธงผู้บุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าโดยชัดแจ้ง รู้เห็นเป็นใจเพื่อให้ได้สิทธิ รับโอนสิทธิโดยไม่สุจริต หลังมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ต้องดำเนินการทางด้านกฎหมายโดยเฉียบขาด เพื่อยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และไม่มีการพิจารณาให้สิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรม พร้อมทั้งแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชชลอการจับกุมดำเนินคดีไว้ก่อนจนกว่านโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว
ศาตราจารย์ศรีราชา กล่าวต่อว่าพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวจำแนกเขตที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ของประเทศเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) พื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (Zone E) และพื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตร (Zone A) และจากการสอบสวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง และอุทยานแห่งชาติทับลาน ในท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว ปรากฎว่า มีประเด็นเกี่ยวข้อง 2 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาที่เกี่ยวกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงระบบ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเสนอแนะนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ดังนี้
1. การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1) กรณีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดิน และการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประสานงานเพื่อบูรณาการการปรับปรุงแก้ไขรูป
แผนที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดที่ดินของรัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
2) กรณีปัญหาการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) บริเวณเขาแผงม้า ให้กรมป่าไม้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบแนวเขตและสภาพของพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นป่าโซน C ว่าเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และสภาพความเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร และดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
3) กรณีการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ (Reshape) ซึ่งผลการดำเนินการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ คณะทำงานมาโดยลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ.2537 – พ.ศ.2543 สรุปผลการดำเนินการเป็นพื้นที่กันออก เนื้อที่ 273,310.22 ไร่ และพื้นที่ผนวก เนื้อที่ 110,172.95 ไร่ แต่การดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณานำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ (Reshape) กลับมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐด้วยกัน และที่ดินของรัฐกับเอกชน(ประชาชน)ให้เป็นรูปธรรมที่ถูกต้อง
4) เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบและจะดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการรังวัดกันออก เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้แล้วเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 แล้ว พื้นที่ดังกล่าวก็จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรม และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงสมควรให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชะลอหรือระงับการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรดังกล่าวไว้ก่อน เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าวข้างต้นแล้วเสร็จ ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามควรแก่กรณีอยู่แล้ว
5) กรณีผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการปฏิรูปที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์สามารถประกอบกิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้ตามข้อ 1.5 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 (ฉบับที่ 2)
2. การดำเนินการกับราษฎรที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ดังกล่าว ให้รัฐพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ 5 ประการ ดังต่อไปนี้
1) กรณีการพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินของราษฎรในเขตป่าไม้นั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อได้พิสูจน์สิทธิการถือครองดังกล่าวและได้ข้อยุติว่า ราษฎรได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ราษฎรดังกล่าวนี้ ย่อมต้องได้รับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินต่อไป
2) กรณีที่เป็นผู้บุกรุกเข้าแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้โดยเจตนาชัดแจ้ง ภายหลังที่มีมติครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ถือว่าเป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้โดยไม่สุจริต การบังคับใช้กฎหมายแก่บุคคลดังกล่าว รัฐควรต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และต้องดำเนินการทางด้านกฎหมายแก่ผู้บุกรุกโดยเฉียบขาด โดยจะไม่มีการพิจารณาให้สิทธิใดๆ แก่บุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3) กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้บุกรุกตาม ข้อ 2) โดยเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ หรือ จ้างวาน หรือส่งเสริม ให้มีการบุกรุก เพื่อที่จะรับโอนสิทธินั้นมาเป็นของตน ต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ไม่สุจริต ดังนั้นรัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเฉียบขาดเช่นเดียวกัน
4) กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิมาโดยไม่สุจริต เช่น รู้อยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ หรืออยู่ระหว่างรัฐบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังขืนรับโอนสิทธิดังกล่าวมา ก็ควรที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกัน
5) กรณีราษฎรที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน หรือภายหลังการประกาศเป็นเขตป่าไม้ครั้งแรก แต่ได้มีการโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่นหรือที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น แม้หน่วยงานของรัฐจะได้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยการยึดพื้นที่คืนแล้วก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการโดยสุจริต ก็ควรที่จะได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 15 ปี ในกรณีทั่วๆ ไป หรือ 10 ปี หรือน้อยกว่า ในกรณีที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศนั้น ทั้งสองกรณีจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขไม่ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม และให้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งปลูกป่าให้เต็มพื้นที่ตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เห็นสมควรกำหนด และไม่ให้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามต่อระบบนิเวศ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ก็จะต้องให้ออกไปจากพื้นที่ทันที ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำการฟื้นฟูรักษาป่า อีกทั้งอัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอที่จะเข้าไปดำเนินการคุ้มครองป้องกันและดูแลรักษาสภาพป่าไว้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้มีผู้บุกรุกพื้นที่ป่ารายใหม่เพิ่มเติมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงควรให้มีการแก้ไขปัญหาโดยวิธีที่เสนอดังกล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย (ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน) ซึ่งจะเป็นกรณีที่ทำให้รัฐได้พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งยังเป็นกุศโลบายในการฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้นได้โดยวิธีการที่ประหยัดทั้งงบประมาณและบุคลากรภาครัฐ
ศาสตราจารย์ศรีราชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวของประเทศถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก หากจะใช้แนวทางดังกล่าวข้างต้นนี้มาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของราษฎรและการดำเนินการของรัฐที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติในเขตท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรและเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้รัฐบาลพิจารณานำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นไปใช้เป็นต้นแบบ (วังน้ำเขียว Model) ในการดำเนินการสำหรับที่ดินของรัฐอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม และป่าไม้ก็จะได้รับการฟื้นฟูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเร็ว อันจะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคตด้วย
ข่าวเด่น