การรณรงค์ใช้ยาอย่างปลอดภัยขององค์กร PSM (ภาคีเครือข่ายเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย)ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา ทั้งการกินยาผิด การกินยาที่ไม่ถูกต้องกับโรค ยาที่มีผลมากเกินไปกับอาการของโรค รวมถึงยาที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และยาปลอม
ล่าสุด นายแพทย์พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมกินยาแก้ปวดมากเกินไป โดยคิดว่าการกินยาแก้ปวดสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน
ฉะนั้นการกินยาให้ถูกกับโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ทานยา โดยกลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สําหรับอาการปวดไม่รุนแรง ได้แก่ พาราเซตามอล แอสไพริน นั้น มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ทําให้คลื่นไส้ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทําให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน ทําให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า รวมทั้งจะขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูง ไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่นคัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย
นอกจากนี้ ยาพาราเซตามอล ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น หากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด
อนึ่ง จากข้อมูลขององค์การเภสัชกรรม พบว่า คนไทยกินยาพาราเซตามอลปีละกว่า 100 ล้านเม็ด
ข่าวเด่น