นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้อง กรณีขอให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้น ไม่ใช่มีเจตนาที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งศาลก็ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริง หากไม่จริง ศาลก็ยกคำร้อง
ทั้งนี้ การรับพิจารณาคำร้องไม่ถือว่า ศาลเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา68 ที่ให้อำนาจเอาไว้ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเข้าไปก้าวล่วงไปกำกับรัฐสภา จึงควรมองในทางบวก ว่า การที่ศาลรับคำร้องและมีการไต่สวน ก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภาลงได้ อีกทั้งเป็นผลดีทั้งรัฐบาลและรัฐสภาด้วยซ้ำที่จะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจง และสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้
ส่วนความรวดเร็วในการรับพิจารณาคำร้อง อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในชั้นของการยกร่างอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าไปรับงานใครมาหรือไม่ นายวสันต์ กล่าวว่า หมายถึงใคร ถ้าหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นั้น ตนจำได้ว่า เคยพูดกันครั้งเดียว ขนาดไปงานพระราชพิธี เจอและนั่งใกล้กัน ยังไม่เคยหันหน้าไปพูดกันเลย เพราะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว และเห็นว่าขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังจะผ่านวาระ 3 ซึ่งในเนื้อหาค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้วว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งหากพ้นจากวาระ 3 ไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถไปดำเนินการใดๆ ได้แล้ว หรือแม้แต่เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จแล้ว เป็นร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย
“ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ และก็ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา แต่ประเด็นอยู่ที่ก่อนการดำเนินการต่อไปต้องชัดเจนก่อนว่ามีการซ่อนรูปแบบ การปกครองบางอย่างเอาไว้หรือไม่ และจะเป็นการเอามาใช้แทนรูปแบบการปกครองในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีหรอกหรือ ที่ประชาชนจะได้รับทราบพร้อมๆ กันในระหว่างที่ศาลไต่สวน ก่อนที่จะมีการแก้ไขต่อไป และอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ก็ได้ผ่านการทำประชามติมา ถือได้ว่ามาจากประชาชน เพราะฉะนั้นจะเป็นไรไป ถ้าหากให้ประชาชนได้ทราบก่อนว่าการแก้ไขจะเป็นอย่างไร ”นายวสันต์กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์,นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ รวม 5 คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา,นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 1. เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและ 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งมติที่ให้รับคำร้องไว้พิจารณานั้น ก็ให้มีการรวมทั้ง 5 คำร้องพิจารณาไปในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นอกจากนี้ ให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา,นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ มีหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5- 6 ก.ค.55 เวลา 09.30 น.เป็นการออกนั่งบัลลังก์ขององค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการไต่สวน หากได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว คณะตุลาการอาจจะนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้เลย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนก็อาจมีการไต่สวนเพิ่มเติมได้
ข่าวเด่น