นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวกรณีสหรัฐอเมริกาจะมาใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อประประโยชน์ด้านการสำรวจของสหรัฐอเมริกา ว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากวาระประชุมคณะรัฐมนตรี ทางพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าเอาผิด เพราะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และสุ่มเสี่ยงต่อการเอาชาติไปแลกประโยชน์แฝงของใครบางคน
“เรื่องนี้มีการแลกเปลี่ยนกันรึเปล่า ระหว่างการแลกวีซ่าของทักษิณในการเข้าสหรัฐ กับการให้สหรัฐมาใช้สนามบินอู่ตะเภาแถมรุกเข้าไปในอ่าวไทยอย่างมีพิรุธ เพราะประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ Martin E.Dempsey เพิ่งเข้าพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลไม่กี่วันก่อน ก็ปรากฏข่าวเรื่องนี้ออกมา”
นางสาวมัลลิกากล่าวว่า สิ่งที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีควรรู้เรื่องอู่ตะเภา คือ1.ผลกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามมาตรา 190 ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน2.สหรัฐสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปใช้ประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ทางทหารหรือเศรษฐกิจ 3.เป็นการสร้างความหวาดระแวงแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยรวมทั้งจีน 4.เป็นการบินผ่านพื้นที่ชายแดนและการลงจอดฉุกเฉินในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องเป็นความรับผิดชอบในหน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทย
5.เป็นการบินผ่านเขตหวงห้ามของไทย เช่น พื้นที่การฝึกฝ่ายทหาร เขตพระราชฐาน6.อาจมีการซ่อนเร้นอุปกรณ์ที่เป็นยุทโธปกรณ์นอกเหนือจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนเครื่องบินสำรวจ โดยไม่มีการแจ้งให้ทางการไทยทราบมาก่อน 7.เป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านสหรัฐอเมริกาก่อการร้ายในไทยได้ ถือเป็นการชักศึกเข้าบ้าน
"เรื่องขนาดนี้ รู้บ้างไหมโครงการการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR และโครงการ การศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ หรือ SEAC 4 RS เป็นคนละโครงการกันโดยสิ้นเชิง อันแรกไม่เป็นปัญหา แต่อันหลังนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเสี่ยงๆ" นางสาวมัลลิกากล่าว
นางสาวมัลลิกากล่าวว่า โครงการอันหลังที่เป็นเรื่องอยู่ขณะนี้ คือ กรณีที่สหรัฐอเมริกา โดยองค์การนาซ่า ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยและเก็บตัวอย่างอากาศในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นฤดูมรสุม ภายใต้โครงการ SEAC 4 RS โดยนาซาจะต้องขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของไทยทุกครั้ง ซึ่งขอบเขตน่านฟ้าที่นาซาระบุไว้ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศไม่ได้คัดค้าน ส่วนของไทย ขณะนี้เรื่องดังกล่าวถูกเสนอให้เข้าบรรจุอยู่ในวาระประชุมของคณะรัฐมนตรี
“กรณีนี้ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะกองทัพอากาศขอให้ระงับเรื่องนี้ เพราะแม้แต่ ผบ.ทอ.ก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่เป็นการดำเนินการของนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ จากการผลักดันของนายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เป็นผู้ขับเคลื่อน”รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
นางสาวมัลลิกากล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตามอง คือ ประเด็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความพยายามจะขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หากยอมยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้นักโทษหนีคดีเข้าประเทศตนได้นั้น ย่อมต้องมีผลประโยชน์มหาศาลต่อสหรัฐอเมริกาเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 3 มารับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและแก๊สอยู่ เรื่องขนาดนี้นายกรัฐมนตรีช่วยรู้สักเรื่องได้หรือไม่
ข่าวเด่น