นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการฯ และโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินใน ๒ เรื่อง ดังนี้
๑. กรณีนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจเสนอชื่อ นางนลินี ทวีสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาร่วมกันแล้วมีความเห็น ดังนี้
๑.๑ กรณีนางนลินี ทวีสิน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า นางนลินี ทวีสิน มีคุณสมบัติและไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฎหมายไทย และการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่า การที่รัฐมนตรีคนหนึ่งของรัฐบาลไทย ถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศหนึ่ง และถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางการเงิน หรือทำธุรกรรมกับพลเมืองของประเทศนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติ ความสง่างามของรัฐบาล และความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การที่นางนลินี ทวีสิน ถูกขึ้นบัญชีดังกล่าวเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อห้ามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีผลเฉพาะกับประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และการดำเนินการของประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวมิได้ทำให้ประชาชนคนไทยเสื่อมศรัทธาต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนางนลินี ทวีสิน แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารได้ใช้ดุลยพินิจแล้ว ดังนั้น หากกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายต่อประเทศชาติ อันเป็นผลมาจากการใช้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น
๑.๒ กรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า การจัดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๓ แต่เนื่องจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ร. ๒/๒๕๕๓ โดยระบุว่าการกระทำของแกนนำ นปช. และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๖๓ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับการที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. ๒๕๔๒/๒๕๕๓ และคดีอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ซึ่งล้วนแต่เป็นกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาญาแผ่นดิน กรณีดังกล่าวจึงเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรียังมิได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาประกอบการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดีและได้แสดงความเห็นที่ชัดเจนไว้ในหนังสือที่มีถึงผู้ตรวจการแผ่นดินว่า “... แม้การพิจารณาจริยธรรมจะมิต้องอาศัยผลทางกฎหมายในคดีอาญาอันเป็นที่ยุติก็ตาม ...”
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงกรณีของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงเพิ่มเติม ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงไป ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยเดิม คือ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๙ วรรคสี่ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้จัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
๒. กรณีนางนฤมล ศิริวัฒน์ และคณะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๓๐ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านประพฤติตนไม่เหมาะสม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าการกระทำตามเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นที่ปรากฏชัดแจ้งต่อสาธารณชนว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่เคยปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน อันอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎรของไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร แจ้งให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการประมวลจริยธรรมต่อไป โดยขอให้รายงานผลความคืบหน้าของการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน ๓๐ วัน
ข่าวเด่น