ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สคฝ.เผยไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางโลกใช้เช็คลิสต์ Core Principles


สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารกลางโลกประเมินระบบการเงินของประเทศต่างๆ ด้วยเช็คลิสต์ Core Principles  เน้นประสิทธิภาพเข้ม
  

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ยึดมั่นมาตรฐานสากลในการดำเนินการตาม “หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล” (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) ซึ่งเป็นหลักการที่ร่วมกันจัดทำโดยสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศหรือ International Association of Deposit Insurers (IADI) ในฐานะองค์กรกลางที่เชื่อมโยงสถาบันประกันเงินฝากทั่วโลก และ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) เพื่อเป็นกรอบแนวปฏิบัติสู่ระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิภาพของสถาบันประกันเงินฝากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
  

และล่าสุดนั้น หลักการ Core Principles ดังกล่าว กำลังถูกนำไปเป็นเช็คลิสต์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( International Monetary Fund : IMF) และธนาคารกลางโลก ( World Bank ) ในการประเมินระบบการเงินของแต่ละประเทศอีกด้วย โดยการประเมิน Core Principles แต่ละข้อจะพิจารณาจากปัจจัยหลัก (Essential Criteria) รวมถึงปัจจัยเสริม (Additional Criteria) ต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ 
 

ทั้งนี้ หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผลมีอยู่ 18 ประเด็น  โดยสามารถสรุปสาระสำคัญเป็น 10 หัวข้อหลัก

ดังนี้  ประการแรก สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบการเงินและการคุ้มครองเงินฝาก และมีการออกแบบอย่างเหมาะสม 

ประการที่สอง ควรมีอำนาจเพียงพอต่อการดำเนินการตามบทบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและทันกาล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถจ่ายคืนผู้ฝากได้ทันที 

ประการที่สาม ธรรมาภิบาลสถาบันประกันเงินฝากจะต้องดำเนินการด้วยความมีอิสระ โปร่งใส  ปลอดจากการแทรกแซงจากการเมืองและจากสถาบันการเงิน  

ประการที่สี่ จะต้องมีความร่วมมือ และแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยงานอื่น เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงิน

ประการที่ห้า สถาบันการเงินภายใต้ระบบประกันเงินฝากต้องเป็นสมาชิกแบบบังคับ และกำหนดประเภทเงินฝากที่คุ้มครองที่ชัดเจน  และมีการกำหนดวงเงินคุ้มครอง ให้ครอบคลุมผู้ฝากส่วนใหญ่         

ประการที่หก กองทุนคุ้มครองเงินฝาก จะได้จากเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน  หากจะมีการนำระบบจัดเก็บเงินนำส่งตามความเสี่ยงมาใช้จะต้องมีการเปิดเผยต่อสถาบันการเงินและเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นอย่างเหมาะสม        

ประการที่เจ็ด การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ระบบประกันเงินฝากมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
 

ประการที่แปด  สถาบันประกันเงินฝากและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากการตัดสินใจหรือดำเนินการโดยสุจริต รวมทั้งจะต้องมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้มีส่วนที่ทำให้สถาบันการเงินล้ม 

ประการที่เก้า การแก้ปัญหาสถาบันการเงิน ต้องป้องกันปัญหาสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มมีปัญหา โดยมีการแทรกแซงอย่างทันกาล 

ประการที่สิบ การจ่ายคืนผู้ฝากและการจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงิน  ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจ่ายคืนแก่ผู้ฝากอย่างเพียงพอ 
  

สำหรับวิธีการประเมินระบบประกันเงินฝากของแต่ละประเทศ อาจดำเนินการได้ 4 วิธี ได้แก่ 1.การประเมินตนเองโดยสถาบันประกันเงินฝาก  2.การประเมินโดย IMF และ World Bank ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินระบบการเงินของประเทศหรือ FSAP (Financial Sector Assessment Program)  3.การจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการประเมิน  4.การประเมินโดย Peer review เช่น ใน IADI regional committee หรือ EFDI
  

อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผลเป็นเพียงหลักการอย่างกว้าง ในระยะต่อไปยังจำเป็นต้องมีการทดสอบและปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป  สำหรับผู้สนใจรายละเอียดต่างๆ ความเคลื่อนไหวของสถาบันประกันเงินฝาก สามารถติดตามได้ทาง www.dpa.or.th หรือเข้าชมข้อมูลของสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศได้ทาง www.IADI.org


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 มิ.ย. 2555 เวลา : 13:38:32

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:00 pm