บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "การประชุม 19-20 มิ.ย. 2555 … คาดเฟดคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน"ระบุว่า ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะมีการประชุมรอบที่สี่ของปี 2555 เพื่อตัดสินใจนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2557 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสัญญาณการอ่อนแรงของการฟื้นตัว ก็อาจมีโอกาสที่เฟดจะส่งสัญญาณถึงการทบทวนการใช้เครื่องมือทางการเงิน หรืออาจจะมีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม หากความเสี่ยงที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขาดความต่อเนื่องปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่ผลการเลือกตั้งกรีซล่าสุดดูเหมือนว่าอาจจะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลลงบางส่วนก็ตาม
@เฟดคงรักษาจุดยืนนโยบายที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง และอาจส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นถึงการใช้เครื่องมือทางการเงิน (Monetary Instruments)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ 0-0.25% โดยมีโอกาสที่เฟดอาจระบุว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะยังคงเอื้อต่อการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำด้วยจังหวะเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าปลายปี 2557 ขณะเดียวกัน คาดว่าเฟดน่าจะยังคงขนาดงบดุลต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจพิจารณาต่ออายุโครงการซื้อตราสารเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (The Maturity Extension Program: MEP หรือ “Operation Twist”) ที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือน มิ.ย. 2555 อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้เช่นกันที่เฟดอาจปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางการเงินมาเป็นการเข้าดูแลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดที่อยู่อาศัยไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว และยังมีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปจากความต้องการเลี่ยงความเสี่ยงท่ามกลางความวิตกต่อวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ เฟดยังอาจมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เฟดติดตามดูแลไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้ รวมไปถึงในกรณีที่เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินขึ้น เฟดก็คงไม่ลังเลที่จะดำเนินการ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่บนเส้นทางของการขยายตัวดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
@นโยบายการเงินผ่อนคลายยังจำเป็น ท่ามกลางการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่มีสัญญาณเชิงลบมากขึ้น
ต้องยอมรับว่าพัฒนาการความเสี่ยงของเศรษฐกิจนับจากการประชุม FOMC ครั้งก่อนในเดือน เม.ย. 2555 เปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่ยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์โดยเฟด
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลักจะสะท้อนภาพการขยายตัวที่แผ่วลง เห็นได้จาก จีดีพีไตรมาส 1/2555 ขยายตัวเพียง 1.9% (Quarter-on-Quarter, Annualized) จากการปรับลดรายจ่ายของภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มชะลอตัว การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน พ.ค. 2555 ปรับขึ้นเพียง 69,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานในภาคก่อสร้าง และการจ้างงานภาครัฐที่ลดลง ส่งผลให้การจ้างงานในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 ให้ภาพการฟื้นตัวอย่างปานกลาง โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 150,000 ตำแหน่งต่อเดือน เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ที่เพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งต่อเดือน ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในเดือน เม.ย. 2555 เป็น 8.2% ในเดือน พ.ค. 2555
อย่างไรก็ดี เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมยังคงบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ เฟดยังคงมีมุมมองว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยจากประมาณการของเฟด อัตราการว่างงานจะมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับประมาณ 7% ณ สิ้นปี 2557 นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและเอื้อต่อการดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างมาก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า เฟดน่าจะยังคงลงความเห็นว่าสภาวะแวดล้อมต่างๆ จะยังคงเอื้อสำหรับการคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2557 หรือนานกว่านั้น
@เส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอาจถูกท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ (วิกฤตหนี้ยุโรป) และประเด็นการคลังในประเทศ
มองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอาจเผชิญกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงภายนอกจากปัญหาหนี้ยุโรป รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาหนี้ยุโรปบานปลายเกินควบคุม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบไปได้ ในขณะที่ ความเสี่ยงในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการลดภาษีที่จะหมดอายุลง (Fiscal Cliff) และการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐโดยอัตโนมัติที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2556 อันอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบกับภาวะหดตัวได้
@ความเกี่ยวเนื่อง (Exposures) ที่ค่อนข้างสูง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถูกกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป
คงต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้ยุโรปที่เรื้อรังได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จากความต้องการนำเข้าสินค้าของประเทศในยูโรโซนที่ปรับตัวลดลง ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ อีกทั้งความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงยังมีผลต่อภาคสถาบันการเงินและตลาดการเงินทั่วโลกที่เชื่อมโยงกันสูงด้วย ทั้งนี้ แม้ล่าสุดดูเหมือนว่าพรรคที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดอาจได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ในกรีซ และทำให้ความเสี่ยงที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซนผ่อนคลายลงชั่วคราว แต่จากภาคธนาคารกรีซที่ยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก ขณะที่ปัญหาหนี้ได้ลุกลามไปยังประเทศขนาดใหญ่ คือ สเปน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของยูโรโซนหรืออันดับที่ 12 ของโลก และอาจรวมถึงอิตาลี นั้น ทำให้ยังมีความเสี่ยงอยู่มากที่สถานการณ์อาจเลวร้ายลงจนมีผลให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัวอย่างรุนแรง และกระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก
จากข้อมูลของ Bank for International Settlement (BIS) และ Federal Reserve ในไตรมาส 1/2555 สถาบันการเงินสหรัฐฯ มีความเกี่ยวเนื่องสุทธิ (Net Exposures) กับประเทศยุโรปชายขอบที่ประสบปัญหาหนี้ (GIIPS) อยู่ที่ประมาณ 3.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นราว 0.3% เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์รวมที่ 12.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.76% ของส่วนทุนทั้งหมด ขณะที่ ขนาดความเกี่ยวเนื่องสุทธิดังกล่าว กระจุกตัวอยู่ที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ 1-2 แห่งของสหรัฐฯ เป็นจำนวนสูงถึง 1.7 และ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% และ 6% ของส่วนทุนของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งดังกล่าว ตามลำดับ นั่นหมายความว่า ในกรณีเลวร้ายที่หากปัญหาหนี้ยุโรปลุกลามเกินควบคุมและสร้างความเสียหายในวงกว้างจนมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งแล้ว เศรษฐกิจและระบบการเงินของสหรัฐฯ ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยงเช่นกัน (แต่ทั้งนี้คงจะขึ้นอยู่กับลักษณะของ Exposures ที่สถาบันการเงินมีอยู่ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงของสถาบันการเงินซึ่งก็ได้มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น)
@ประเด็นด้านการคลังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่รออยู่
ปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ การสิ้นสุดของมาตรการทางภาษี (Fiscal Cliff) ทั้ง Bush Tax Cuts และ Payroll Tax Cuts รวมไปถึงการปรับลดรายจ่ายอัตโนมัติ (Automatic Spending Cuts) ที่จะเกิดขึ้นหลังกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 2555 ส่งผลให้ประเด็นด้านการคลังนี้ยังคงมีความไม่แน่นอน เพราะจะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งและปัจจัยทางการเมือง ขณะที่ คณะกรรมาธิการงบประมาณสหรัฐฯ (Congressional Budget Office: CBO) ประเมินว่า ในกรณีที่ไม่มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีออกไป ประกอบกับมีการปรับลดรายจ่ายอัตโนมัติด้วย ผลที่ตามมาอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบกับภาวะหดตัวราว 1.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556
@ผลต่อไทย: สัญญาณจากเฟด และความเคลื่อนไหวในภูมิภาคสำคัญของโลก คงมีผลต่อกระแสเงินทุนและราคาสินทรัพย์ทางการเงิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งสัญญาณจากเฟดที่อาจมีความชัดเจนมากขึ้น ผ่านแถลงการณ์หลังการประชุมและการแถลงต่อสื่อมวลชน ถึงการรักษาจุดยืนนโยบายผ่อนคลายอย่างมากและการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะส่งผลต่อทิศทางการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และมีอิทธิพลไม่มากก็น้อยต่อการปรับตัวของสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลตามมาต่ออัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินและค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ขณะที่ ความเสี่ยงจากการขยายตัวที่อ่อนแรงลงของสหรัฐฯ จีนและเอเชีย อีกทั้งวิกฤตหนี้ยุโรป ตลอดจนความเสี่ยงจากภาวะค่าครองชีพและการเมืองในประเทศ คงทำให้ทางการไทยจะยังคงให้น้ำหนักและดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด น่าจะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบที่สี่ของปีในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2555 พร้อมระบุว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะยังคงเอื้อต่อการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำจนถึงปลายปี 2557 เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกัน คาดว่าเฟดน่าจะยังคงขนาดงบดุลต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจพิจารณาต่ออายุโครงการซื้อตราสารเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (The Maturity Extension Program: MEP หรือ “Operation Twist”) ที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2555 หรืออาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่เฟดจะปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางการเงินมาเป็นการเข้าดูแลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดที่อยู่อาศัยไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปท่ามกลางความวิตกต่อวิกฤตหนี้ยุโรป นอกจากนี้ เฟดยังอาจมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เฟดติดตามดูแลไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้ รวมไปถึงในกรณีที่เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินขึ้น เฟดก็คงไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่บนเส้นทางของการขยายตัวดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ถึงแม้ ณ ขณะนี้ เฟดจะยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะรักษาการฟื้นตัวในระดับปานกลาง โดยที่สัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะยังคงทยอยปรากฏขึ้นได้ ก็ตาม
มองไปในระยะข้างหน้า นอกจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่อาจกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านความเชื่อมโยงกันที่ค่อนข้างสูงในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงภาคการค้า-การลงทุนแล้ว เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญบททดสอบจากประเด็นด้านการคลังในประเทศ ทั้งมาตรการลดภาษีที่จะหมดอายุลงและการตัดลดรายจ่ายอัตโนมัติในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งความไม่แน่นอนในประเด็นนี้ อาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบกับภาวะหดตัวในช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ได้ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยเฟด ท่ามกลางการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จึงยังคงมีความจำเป็น
ทั้งนี้ แนวนโยบายของเฟด ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ย่อมจะมีอิทธิพลไม่มากก็น้อยต่อการปรับตัวของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก ไม่เว้นแม้ไทย ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเสี่ยงจากการขยายตัวที่อ่อนแรงลงของสหรัฐฯ จีนและเอเชีย อีกทั้งวิกฤตหนี้ยุโรป ตลอดจนความเสี่ยงจากภาวะค่าครองชีพและการเมืองในประเทศ คงทำให้ทางการไทยจะยังคงให้น้ำหนักและดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี
ข่าวเด่น