นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมจัดงานประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังอาเซียนและยุโรป ในวันที่ 14-15 ตุลาคม ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ และจะมีการประชุมระดับผู้นำ ที่สปป.ลาวอีกครั้ง หลังจากการประชุมครั้งก่อนที่ยุโรปเป็นเจ้าภาพ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีประเด็นพิจารณามากนัก เนื่องจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิด ทำให้ระดับผู้นำไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมประชุมได้
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ จะมีการพูดคุยหารือกันในประเด็นติดตามเรื่องหนี้สาธารณะแต่ละประเทศ จากเอเชีย อาเซียนและยุโรป เป็นอย่างไร รวมถึงการติดตามบทเรียนจากวิกฤติยุโรปนั้น อาเซียนจะมีบทบาทอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมกับหารือความร่วมมือทางการเงินระดับอาเซียน เพื่อช่วยเหลือยุโรป
“เชื่อว่า การประชุมครั้งนี้ จะได้รับความสนใจสูงมาก ทั้งระดับในประเทศและระดับโลก เพราะการประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญรองลงมาจากประชุมเวิลด์แบงก์ เพราะมีสมาชิก 40 ประเทศการประชุมรวมถึงสมาชิกใหม่ อย่างสวิตเซอร์แลนด์และบังคลาเทศด้วย”
นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันอีกว่า แนวคิดออก พ.ร.บ.กู้เงิน 1.6 -2.0 ล้านล้านบาท จะไม่เป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะ เพราะการบริหารเศรษฐกิจต้องเน้นความพร้อมดี จากที่ผ่านมาหนี้สาธารณะของไทยอยู่ระดับต่ำ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานมีจำกัด เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจลงทุนตามแนวคิดดังกล่าว อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ และถกเถียงกันได้ เพราะเป็น พรบ. นำเข้าที่ประชุมสภาฯ พิจารณา ก็มีความโปร่งใสเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสร้างอนาคตประเทศ ภายใต้กรอบ กยอ. วงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี จะรองรับความสามารถทางเศรษฐกิจได้ถึง 15 ปี โดยส่วนตัวเห็นว่า สอดรับกับแนวทางการการลงทุนตาม พรบ.กู้เงิน 1.6 -2.0 ล้านล้านบาท ที่เตรียมจะเสนอเข้าสภาฯ พิจารณา ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะขณะนี้อยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท หักภาระชดเชยหนี้ FIDF ในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ที่ต่อไปจะไม่เป็นภาระรัฐบาลอีก จะทำให้สภาพคล่องส่วนเกิดในระบบเหลือมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะช่วยดูสภาพคล่องแทนแบงก์ชาติได้ด้วย อีกทั้งกระทรวงการคลังยังคงมีแผนบริหารรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นอีก 120,000-150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการบริหารงบประมาณตามปกติ
“ 15 ปีที่ผ่าน เรามีปัญหาหนี้ภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐ ไม่เคยประสบปัญหาหารบริหารหนี้เกินความพอดี จากสิ่งที่ระมัดระวัง ทำให้ประเทศมีความพร้อมที่จะลงทุน เจตนาที่ผมเปิดประเด็นนี้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นการเมือง อยากให้เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยที่ไม่ได้นำเข้า พรบ.งบประมาณตามปกติ เพราะจะทำให้เราเป็นโรคขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ซึ่งยังมีข้อจำกัดในการประชุมงบประมาณประจำปี ที่การพูดคุยเป็นแบบกระจัดกระจาย” นายกิตติรัตน์กล่าว
ข่าวเด่น