ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสิกรไทยจับมือ สกว. ทุ่ม 80 ล้านบาทหนุนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา


นายบัณฑูร  ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ด้วยปณิธานของธนาคารกสิกรไทยที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนผ่านกระบวนการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานทางความคิด โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพและคุณธรรมด้วยกระบวนการวิจัยที่มีระบบ พร้อมสนับสนุนหลักการคิดการพัฒนาจากเครือข่ายครูที่เข้มแข็งควบคู่กันไป เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ระดับท้องถิ่นและระดับประเทศที่ใช้การวิจัยเป็นตัวกลางในการพัฒนาประเทศและสร้างฐานความรู้เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยให้เป็นสังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ จึงได้ร่วมดำเนินโครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” ขึ้น ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกสิกรไทย ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนและดำเนินโครงการด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับการวิจัยอันจะเป็นกระบวนการศึกษานอกหลักสูตรที่มีคุณค่าสำหรับเยาวชนและประเทศไทยในระยะยาว

ในขณะที่ สกว. ได้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการเหล่านี้จะช่วยปฏิรูปความคิดของเยาวชน สร้างทักษะความคิดที่มีระบบ ปลูกฝังสำนึกที่ดีและความรักความผูกพันในวิถีชุมชนตนเอง ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตตามหลักคุณธรรม สร้างจิตสำนึกบนพื้นฐานประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าของถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ช่วยให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน และหากได้รับการส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินที่ดีจะช่วยให้สามารถคิดและวางแผนเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดีเพื่อให้เยาวชนก้าวไปสู่ความสำเร็จเคียงคู่ชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป

นายบัณฑูร กล่าวว่า โครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” จะใช้เงินทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจากธนาคารกสิกรไทย 40 ล้านบาท และสกว. 40 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงพลักดันของทั้งสององค์กรในการต่อยอดความคิดของเยาวชน อีกทั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาอื่น ๆ ให้ตระหนักถึงและช่วยเร่งให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถสร้าง การเปลี่ยนแปลงกับตัวครูและส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่สามารถขยายผลได้ต่อไปเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ เชื่อมั่นที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า สกว.ตระหนักดีว่าการศึกษาและการค้นคว้าผ่านการคิดอย่างมีระบบมีเหตุผล สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์พร้อมเพิ่มทักษะและความสามารถในด้านต่าง ๆ ด้วยการทำงานวิจัยผ่านโครงการ  ดังนั้นการดำเนินโครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” จะเป็นการทำงานร่วมกับครูและนักเรียน โดยครูจะเน้นการเปลี่ยนระบบคิดและวิธีจัดการเรียนการสอนให้เน้นการสอนด้วยโครงงานบนฐานวิจัย กระบวนการพัฒนาครูจะดำเนินการภายใต้การดูแลของศูนย์พี่เลี้ยง (Coaching team) ที่ธนาคารกสิกรไทยและ สกว. คัดเลือกจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่มีประสบการณ์และมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ให้ครูมีศักยภาพ 3 ด้าน คือ การพัฒนาระบบคิด (System thinking) การพัฒนาด้านจิตปัญญา (Spiritual learning) และการพัฒนาทักษะการสอนแบบโครงงานบนฐานวิจัย (Research-based learning) ซึ่งจะช่วยพัฒนาครูให้มีความสามารถในการออกแบบและจัดกิจกรรมการสอนเชิงบูรณาการเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษานั้น ๆ ไปพร้อมกัน

สำหรับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายจะเน้นไปที่ระดับมัธยมศึกษา ทั้งในสายวิทยาศาสตร์ และสายสังคมศาสตร์/ศิลปศาสตร์ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านการพัฒนาทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการวิจัย (Research-based Learning) จะสามารถรวมกลุ่มยุววิจัย ร่วมกันศึกษา วิจัยเกี่ยวกับชุมชนหรือเรื่องที่สนใจ ใน 3 กลุ่มประเด็น คือ เศรษฐกิจชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายว่า จะสามารถสร้างยุววิจัยได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3,200 คน ได้ผลงานวิจัยของยุววิจัย 600 - 800 ชิ้นต่อปี มีโรงเรียนที่มีทีมครูที่สามารถจัดการสอนแบบโครงงานบนฐานวิจัยไม่น้อยกว่าปีละ 80 โรงเรียน และมีเครือข่ายครูที่มีทักษะการจัดการเรียนรู้ด้วยการวิจัย (RBL) ประมาณ 320 คนต่อปี

โครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” ด้วยความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทยและ สกว.ในปีแรก จะเป็นการวางระบบนำร่องกับโรงเรียนและครูในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำปาง อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครปฐม สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช และสงขลา มีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 80 โรงเรียน โดยมีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเข้าร่วมดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทั้งธนาคารกสิกรไทย และสกว.คาดว่าจะส่งผลต่อการปฏิรูปการจัดกระบวนการเรียนรู้ขยายไปสู่โรงเรียนและครูทั่วประเทศได้ต่อไป

นับตั้งแต่ปี 2536 ที่ธนาคารกสิกรไทยมีการจัดทำโครงการการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ธนาคารยังคงสานต่อในเรื่องการพัฒนาการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องมีโครงการทุนการศึกษา โครงการพัฒนาเยาวชนด้อยโอกาสทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ ดนตรี กีฬา การจัดสร้างห้องสมุดโรงเรียนที่มีเป้าหมายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งโครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” จะเป็นการขยายผลไปสู่การเรียนรู้ในระดับชุมชนให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น พร้อมพันธมิตรที่มีปณิธานเช่นเดียวกันเพื่อร่วมพัฒนาระบบการเรียนรู้ดังกล่าว

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ค. 2555 เวลา : 14:12:50

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:37 am