ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อย่าลืม! พรุ่งนี้ช่วงเช้ามืด ชมปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน


ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค.นี้  จะมีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน  โดยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 สิงหาคม เวลาประมาณ 04.00 น. ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงข้างดวงจันทร์เสี้ยว 12 ค่ำ ทางใต้ของดวงจันทร์ประมาณ 0.56 องศา หากสภาพท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆ จะสามารถมองเห็นความสวยงามของดาวเคียงเดือนด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี นับเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่มีความสว่างเป็นอันดับ 1 และ 2 บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก

นอกจากนี้ ในช่วงค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ในวันที่ 22 สิงหาคม ดาวเสาร์ ดาวอังคาร ดาวสไปก้า (Spica) จะมาชุมนุมกันเคียงดวงจันทร์ข้างขึ้น 5 ค่ำ ที่ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวเคราะห์ทั้งสามดวงมีความสว่างพอกัน แต่มีสีที่ปรากฏต่างกัน จะเห็นดาวเสาร์เป็นสีเหลือง ดาวอังคารเป็นสีส้ม และดาวสไปก้าเป็นสีขาว สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทุกภูมิภาคของประเทศ

เหตุการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ เป็นเพียงมุมปรากฏบนท้องฟ้า ซึ่งดาวเคราะห์แต่ละดวงจะกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้นๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เหตุการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ ถือเป็นเรื่องปกติในทางดาราศาสตร์

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2555 แม้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ก็ยังมีวัตถุท้องฟ้ามาให้ชมกัน อย่างปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าในเวลาเดียวกันและในมุมเดียวกัน หรือหากปรากฏอยู่ใกล้กับดวงจันทร์ คนส่วนใหญ่มักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ดาวเคียงเดือน” หรือหากมีดาวเคราะห์มากกว่า 1 ดวง มาปรากฏในตำแหน่งใกล้เคียงกันจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ดาวเคราะห์ชุมนุม” (Planets Conjunction)


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ส.ค. 2555 เวลา : 11:39:29

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:05 pm