ทีเอ็มบีเผยยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีงวดครี่งปีแรก เติบโต 15 % มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 114,000 ล้านบาท คาดสิ้นปีสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตได้ตามเป้าหมาย 35-40 % ส่วนครึ่งปีหลังเน้นปล่อยสินเชื่อผนวกเร่งเครื่องเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการธุรกรรมทางการเงินที่ดีที่สุด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลธุรกรรมทางการเงินทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด เพื่อการเป็นธนาคารหลักของลูกค้า
นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอสเอ็มอีและซัพพลายเชน ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ยอดสินเชื่อเอสเอ็มอี 6 เดือนแรกของปีนี้ เติบโต 15 % โดยมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 114,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2554 โดยที่การขยายตัวได้ดีจากสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กซึ่งมีการขยายตัวเพิ่ม 24% หรือเพิ่มเป็น 54,000 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางเป็น 60,000 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าเติบโตสินเชื่อ 35 – 40% ตามที่ได้ตั้งไว้ ณ สิ้นปี
ทั้งนี้ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ แต่กลับพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนที่ไม่เพียงพอความต้องการหรือแม้กระทั่งการบริหารการเงินที่ไม่คล่องตัว ซึ่งที่ผ่านมา ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้เป็นผู้พลิกแนวคิดและเป็นผู้ริเริ่มในการให้วงเงินสินเชื่อเอสเอ็มอีที่สูงเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงเป็นที่มาของสินเชื่อ 3 เท่า TMB SME ซึ่งได้วงเงินถึง 3 เท่าของหลักประกัน ทำให้ธนาคารได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าและมีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังส่งผลให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อของทีเอ็มบี ภายใต้โครงการค้ำประกันราย Portfolio กับ บสย. นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2552 สูงเป็นอันดับ 1 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 43 % ของสินเชื่อที่ค้ำประกันจาก บสย. หรือคิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 58,000 ล้านบาท
สำหรับในเรื่องการบริหารการเงินของเอสเอ็มอีนั้น เมื่อไม่นานมานี้ธนาคารได้มีการออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถบริหารธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวขึ้น ด้วยบัญชีธุรกิจ One Bank One Account ที่ให้เอสเอ็มอี ฝาก ถอน โอนเงิน หรือฝากเช็ค ได้ที่สาขาไหนก็ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมข้ามเขต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีการเปิดบัญชีประเภทลูกค้าธุรกิจกว่า 2,000 ราย หลังจากได้มีการได้มีการเปิดตัวเพียง 2 เดือนตั้งแต่มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสำหรับแผนงานครึ่งปีหลังนั้น ธนาคารยังคงเน้นออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลธุรกรรมทางการเงินทั้งระบบ เพื่อเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงการบริหารจัดการธุรกรรมการเงินที่มีประสิทธิภาพ ที่ง่ายและสะดวกที่สุดให้ได้มากขึ้น ตอกย้ำเป้าหมายในการเป็นธนาคารที่ให้บริการธุรกรรมทางการเงินที่ดีที่สุด ( The Best Transactional Banking) และลูกค้าเลือกใช้เป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรม
นาย ปพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยขยายตัวได้ดี เป็นผลมาจากการเร่งฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม และการบริโภคในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเอสเอ็มอีภาคการผลิตและการค้าได้รับผลดีโดยตรง เห็นได้จากการใช้ไฟฟ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และ 11.9 ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวและบริการยังได้รับผลดีจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน โดย ใน 6 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีที่ผลิตเพื่อส่งออก อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เอสเอ็มอีจึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยเน้นตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติม
ข่าวเด่น