ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มาสเตอร์การ์ด อินเด็กซ์ เผยดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคไทยกระเตื้อง


มาสเตอร์การ์ด อินเด็กซ์ เผยดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคไทยกระเตื้อง-ขณะที่ความมั่นใจผู้บริโภคญี่ปุ่นต่ำสุด  โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัว 9 ใน 14 ประเทศมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น วัดจากห้าตัวชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจ  ระะดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไทยอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เพิ่มขึ้นจากดัชนีก่อนถึง +11.9 จุด

มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ เผยผลสำรวจความมั่นใจผู้บริโภคไทย พบการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อครั้งก่อนในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2554 โดยเพิ่มขึ้นจาก 63.9 เป็น 75.8 จุดดัชนี (เพิ่มขึ้น +11.9 จุดดัชนี) นอกจากนั้น ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นการลดลงของความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเจริญเติบโตในภูมิภาค อันเห็นได้จากความมั่นใจผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกที่เพิ่มสูงขึ้น

ดัชนีสำรวจความมั่นใจผู้บริโภค มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ อินเด็กซ์ (MasterCard Worldwide IndexTM  of Consumer Confidence) ดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2555 จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2555 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 11,376 คน อายุระหว่าง 18-64 ปี จาก 25 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยการทำสำรวจดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคนี้ถือเป็นการสำรวจความมั่นใจของผู้บริโภคครั้งที่ 39 นับตั้งแต่ได้เริ่มมีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2536 หรือตั้งแต่ 20 ปีก่อน และถือว่าเป็นดัชนีในเอเชียแปซิฟิกที่ครอบคลุมมากและยาวนานที่สุด โดยคะแนนดัชนีจะแทนค่าศูนย์หากผลมองว่าเป็นด้านลบที่สุด ค่า 100 จะหมายถึงการมองแง่บวกที่สุด ส่วน 50 คือผลที่เป็นกลาง โดยโผสำรวจและรายงานประกอบต่างๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดใดกับผลประกอบการทางการเงินของมาสเตอร์การ์ด

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคจากประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีความมั่นใจที่ดี สี่ลำดับสูงสุดได้แก่ประเทศอินเดีย (82.1 จุด) จีน (77.4 จุด) เวียดนาม (77.2 จุด) และไทย (75.8 จุด) ส่วนประเทศที่ความมั่นใจของผู้บริโภคต่ำที่สุดได้แก่ประเทศญี่ปุ่น (23.6 จุด) ไต้หวัน (25.7 จุด) และออสเตรเลีย (39.2 จุด)

หากมองภาพรวมจะเห็นว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยผลสำรวจของ 9 จาก 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก[1] เป็นไปในทางบวก ซึ่งหากเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนเมื่อช่วงปีหลังของปี 2554 จะเห็นได้ว่าความมั่นใจเพิ่มสูงขึ้นจาก 52.1 จุด เป็น 57.2 จุด ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 นี้ โดยในผลสำรวจครั้งก่อน มีเพียง 5 จาก 14 ประเทศเท่านั้นที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นไปในทางบวก กลับกับการสำรวจในครั้งนี้ที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นรายได้ประจำ (เพิ่มขึ้นจาก 64.5 มาเป็น 71.9 จุด) การจ้างงาน (จาก 49.3 เป็น 54.0 จุด) เศรษฐกิจ (จาก 49.3 เป็น 51.8 จุด) คุณภาพชีวิต (จาก 49.6 เป็น 51.7 จุด) และตลาดหุ้น (จาก 47.9 เป็น 56.5 จุด)

สำหรับสถานะปัจจุบันของความมั่นใจผู้บริโภคในประเทศไทยอยู่ที่ 75.8 จุดดัชนี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 63.9 จุดในครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว (เพิ่มขึ้น +11.9 จุด) นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยยังสูงขึ้นในทั้งห้าตัวชี้วัดสำคัญ อันได้แก่

·         รายได้ประจำ – เพิ่มขึ้นจาก 74.2 เป็น 90.6 จุด (เพิ่มขึ้น +16.4 จุด)

·         การจ้างงาน – เพิ่มขึ้นจาก 62.3 เป็น 72.7 จุด (เพิ่มขึ้น +10.4 จุด)

·         เศรษฐกิจ – เพิ่มขึ้นจาก 61.7 เป็น 72.8 จุด (เพิ่มขึ้น +11.1 จุด)

·         คุณภาพชีวิต – เพิ่มขึ้นจาก 59.2 เป็น 67.5 จุด (เพิ่มขึ้น +8.3 จุด)  และ

·         ตลาดหุ้น – เพิ่มขึ้นจาก 62.0 เป็น 75.4 จุด (เพิ่มขึ้น +13.3 จุด)

ด้านฮ่องกง ซึ่งความเชื่อมั่นลดต่ำลงถึง 38.1 จุดดัชนีในผลสำรวจครั้งก่อน กลับมีการพัฒนาที่ดีมากในการสำรวจครั้งนี้ โดยความเชื่อมั่นสูงขึน 21.9 จุด นำหน้าแซงทุกประเทศในภูมิภาค ตามมาติดๆ ด้วยประเทศเกาหลีใต้ (เพิ่มขึ้น +21.4 จุด) มาเลเซีย (+17.1 จุด) และนิวซีแลนด์ (+15.3 จุด)

ส่วนประเทศอินโดนีเซียเผชิญกับการเสื่อมถอยของความมั่นใจผู้บริโภคครั้งยิ่งใหญ่ ลดลงถึง 18.7 จุดดัชนี ตามด้วยฟิลิปปินส์ซึ่งลดลง 11.8 จุด นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอินโดนีเซียด้านเศรษฐกิจยังตกฮวบจาก 74.9 เป็น 33.3 จุด และความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานก็ดิ่งลงจาก 70.6 เป็น 40.8 จุดดัชนี

“ผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับความมั่นใจผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกสะท้อนให้เห็นการผสมผสานอันซับซ้อนของอิทธิพลสำคัญต่างๆ ที่มีผลต่อภูมิภาค ประการแรกคือสภาพแวดล้อมของโลกที่ยังคงอ่อนแอและไม่แน่ไม่นอน โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ประการที่สองคือการชะลอตัวของประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดระดับภูมิภาคหลายๆ แห่ง ที่ส่งออกสินค้าให้แก่ประเทศจีน ประการที่สามคือความแข็งแกร่งของตลาดภายในประเทศในการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุปสงค์ภายใน ในขณะที่สภาพแวดล้อมของโลกส่งผลกระทบต่อทุกตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การชะลอตัวของประเทศจีนส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในทางตรงกันข้าม ประเทศเวียดนามได้รับผลประโยชน์ด้านการผลิตสินค้าระดับล่าง ซึ่งเริ่มย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนประเทศอินเดียถือได้ว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมของโลกและประเทศจีนน้อยที่สุด เนื่องจากอุปสงค์มุ่งเน้นอยู่ภายในประเทศ เมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ ในภูมิภาค การสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อสองปีก่อน” ดร. ยุวะ เฮดริก หว่อง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจโลกของมาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ กล่าว

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ส.ค. 2555 เวลา : 16:00:18

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 2:49 pm