นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของประเทศไทย ในปีนี้ น่าจะเติบโตประมาณ 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการณ์ล่าสุด และเป็นตัวเลขที่ลดลงแล้วจากการประมาณการณ์เดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 6% รวมถึงการส่งออกที่เติบโต 7% จากเดิมเคยคาดไว้ 8%
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกในปีนี้ที่ชะลอตัวจากปัจจัยกระทบภายนอกประเทศ ทั้งยุโรปและสหรัฐ แต่แรงกระตุ้นภายในประเทศจากปัจจัยภาคการใช้จ่ายของครัวเรือนก็เป็นแรงบวกและช่วยชดเชยให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตไปได้ในระดับ 5.7%
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมหดตัวตามไปด้วย โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 5.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 66.8% จาก 72.4% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ และหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ
อย่างไรก็ดี การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศยังขยายตัวได้ ตามการผลิตยานยนต์จากการเร่งส่งมอบให้ลูกค้าตามคำสั่งซื้อรถยนต์ที่ยังอยู่ในระดับสูง และการผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีอยู่
ส่วนด้านความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ปรากฎว่าในเดือน ก.ค.55 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจกลับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 51.5 มาอยู่ที่ 51.7 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมและมิใช่ภาคอุตสาหกรรม มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น โดยดีขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำรวจในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ 55.6 จาก 54.8 ที่สำรวจเมื่อเดือนมิ.ย. เนื่องจากผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมและ มิใช่อุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่า ภาวะธุรกิจเกือบทุกด้านในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น ยกเว้น ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการที่ลดต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง
ข่าวเด่น