ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงข่าวมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจ และผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ โดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “EIC ปรับประมาณการของเศรษฐกิจไทยปี 2013 ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของปัจจัยสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปจากมุมมองเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์ของการส่งออก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย เป็นหลัก นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศยังอาจมีผลกระทบกับโครงสร้างการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวอีกด้วย”
เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีความเปราะบางกว่าที่คาดไว้ ดร.สุทธาภา กล่าวว่า “โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง เห็นได้จากดัชนีการสั้งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม PMI New Orders ที่ยังหดตัวลงอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่ทางการจีนใช้นโยบายการเงินกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศไปแล้วหลายครั้งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนพึ่งพาเศรษฐกิจยุโรปค่อนข้างมาก สำหรับในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เศรษฐกิจยุโรปยังจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการขอผ่อนปรนเงื่อนไขการได้รับเงินช่วยเหลือของกรีซและมาตรการของธนาคารกลางยุโรปในการช่วยเหลือลดต้นทุนการกู้ยืมของสเปนและอิตาลี ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ได้ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอ่อนแอเกินกว่าที่จะเป็นที่พึ่งให้กับเศรษฐกิจโลกได้”
การส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้น้อยลงกว่าที่คาดไว้เดิม ดร.สุทธาภา กล่าวว่า “EIC ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ประมาณ 8% ในปีนี้และ 11% ในปีหน้า แต่หากยุโรปแย่กว่าที่คาด การส่งออกอาจจะขยายตัวได้เพียง 5% ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก นอกจากนี้ การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นผลลบกับกลุ่มยางพารา และอุตสาหกรรมเหล็ก”
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงทำให้ยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ ดร.สุทธาภา มองว่า “การที่ราคาน้ำมันดิบยังยืนอยู่ในระดับเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะนี้และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงจากปัจจัยด้านอุปทาน ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2013 ไม่ต่างจากระดับปัจจุบันมากนัก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2013 น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงน่าจะทำให้การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายยังสามารถทำได้ ดังนั้น EIC จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่มีการปรับขึ้นในปี 2013 และมองว่าการใช้จ่ายในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะมีน้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อในช่วงนี้”
มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของรัฐบาลอาจมีผลต่อโครงสร้างการผลิตของไทยในระยะยาว ดร.สุทธาภา มองว่า “นโยบายการคืนภาษีรถยนต์คันแรกและนโยบายการรับจำนำข้าวในราคาสูงอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิต รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว”
ซึ่งในประเด็นนี้ คุณธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ Head of Sectorial Strategy มองว่านโยบายการคืนภาษีรถยนต์คันแรกนั้นมีแง่บวกในการเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพัฒนาความสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ eco-car ในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มเติมจากการเป็นผู้ผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตันที่ผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงในการลดความสำคัญของการผลิตรถยนต์ขนาด 1,500-3,000 ซีซี ซึ่งในปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกลุ่มรถยนต์นั่งของโลกและยังเติบโตถึง 10% การเน้นผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาต่อคันที่ต่ำกว่านั้น ต้องให้ความสำคัญต่อการผลิตและการขายในเชิงปริมาณซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอาจส่งผลต่อการขยายมูลค่าการส่งออกและผลประกอบการของผู้ผลิตในอนาคต
ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว เนื่องจากชาวนามีแรงจูงใจให้เร่งปลูกพันธุ์ข้าวอายุสั้นเพื่อเพิ่มรอบการผลิตโดยขาดแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ทั้งนี้ยังจะมีผลต่อคุณภาพของดินทำให้ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การที่ราคารับจำนำสูงกว่าตลาดมากทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ไทยเสียตำแหน่งผู้นำในการส่งออกข้าวในตลาดโลก การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตนั้นควรจะหันไปให้ความสนใจและสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ การจัดรูปและปรับที่ดินให้เหมาะสมต่อการผลิต รวมถึงการให้ความสำคัญกับการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวมากกว่า
ข่าวเด่น