คงปฎิเสธไม่ได้ว่าในปี 2555 นี้ เป็นปีที่ตลาดแรงงานไทยต้องตกอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากถูกกระทบด้วยหลากหลายปัจจัยทดสอบทั้งเก่าและใหม่ที่มีเข้ามาอย่างไม่ขาดระยะ ทั้งภาวะการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลายปีก่อน ต่อเนื่องด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ทวีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 รวมทั้งการปรับใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 300 บาทที่มีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัดนำร่องเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีผลให้ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศขยับขึ้นจาก 151-206 บาท/วัน มาอยู่ที่ 222-300 บาท/วัน
ปัจจัยเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก รวมทั้งมีผลทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งภายใต้กระบวนการปรับตัวดังกล่าวในท้ายที่สุดแล้วก็ย่อมส่งผลกระทบย้อนกลับมาสู่ตลาดแรงงานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เครื่องชี้สถานการณ์แรงงานหลายตัวเริ่มสะท้อนถึงผลกระทบที่มีต่อภาวะการจ้างงาน โดยอัตราการว่างงานเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 แม้จะลดลงจากร้อยละ 0.9 ในเดือนก่อน แต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ขณะที่ เมื่อมองจากภาพรวมของภาวะการจ้างงาน พบว่า แม้จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 2/2555 จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 (YoY) แต่กำลังแรงงานรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) ก็ส่งผลทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราการว่างงาน ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.9 ในไตรมาส 2/2555 ซึ่งแม้จะต่ำกว่าร้อยละ 2.1 ในไตรมาส 1/2552 ที่ภาคธุรกิจไทยถูกกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในไตรมาส 1/2555
เครื่องชี้ด้านการจ้างงานหลายตัวเริ่มสะท้อนสัญญาณตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง
? การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive Industry) แม้จำนวนผู้มีงานทำโดยรวมล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2555 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นการเพิ่มขึ้นที่กระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งเกษตรกรมีการเร่งเพาะปลูกเพื่อให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตยังอยู่ในช่วงเวลาของโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรของรัฐบาล ขณะที่ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่เคยอยู่เหนือระดับ 24.0 ล้านคนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี กลับลดลงจนเหลือเพียง 23.1 ล้านคน นำโดย สาขาอุตสาหกรรม บริการ ก่อสร้าง และการค้า ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่พึ่งพาสัดส่วนแรงงานค่อนข้างสูงในการผลิต แต่สภาวะธุรกิจก่อสร้าง บริการและการค้า ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การจ้างงานในธุรกิจดังกล่าว ยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากสภาวะแวดล้อมของตลาดแรงงานที่กำลังถูกกดดันในเวลานี้ แต่กระนั้น คงต้องติดตามสัญญาณอ่อนแอของภาคการผลิต ที่อาจส่งผลต่อเนื่องมาที่การจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
สัญญาณที่น่ากังวลสะท้อนจากการจ้างงานที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมซึ่งสวนทางกับทิศทางการเร่งกำลังการผลิตหลังน้ำท่วม แม้กระบวนการฟื้นฟูสายการผลิตที่ยังไม่สมบูรณ์ในอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบอย่างหนักจากอุทกภัย เช่น อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรสำนักงาน จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจ้างงานในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี ยังมีอุตสาหกรรมอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเครื่องหนังและรองเท้า ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมมากนัก แต่ก็เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันและอยู่ในภาวะใกล้อิ่มตัว (Sunset Industries) มาเป็นเวลานาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อผนวกเข้ากับแรงกดดันด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 และภาวะที่ซบเซาของภาคการส่งออก จึงเป็นเหตุให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่มีการพึ่งพาแรงงานในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง (Labor Intensive Industries) มีทิศทางที่ไม่สดใสมาจนถึงปัจจุบัน
? จำนวนชั่วโมงการทำงานปรับลดลง ขณะที่ จำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ เพิ่มขึ้น
อีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนความอ่อนแอของภาวะการจ้างงาน ก็คือ จำนวนชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากภาวะน้ำท่วมรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ซบเซาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และเมื่อได้แรงเสริมจากผลของการปรับตัวของผู้ประกอบการต่อต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งอาจเลี่ยงไปจ้างแรงงานเป็นรายชั่วโมงแทนการจ้างเป็นรายวันแทน จึงส่งผลให้จำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 4.13 แสนคนในเดือนมิถุนายน 2555
? จำนวนผู้ว่างงานสูงติดต่อกันหลายเดือน
แม้ว่าจำนวนผู้ว่างงานในช่วงเมษายน-มิถุนายน 2555 จะทยอยลดลง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน ระบุว่า มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 2.67 แสนคน (จากกำลังแรงงานประมาณ 39.89 ล้านคน) หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.9 ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2555 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นว่า อัตราการว่างงานในปัจจุบัน ยังสูงกว่าร้อยละ 0.4 ในเดือนมิถุนายน 2554 โดยเป็นผลจากจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี
จำนวนผู้ว่างงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในทุกระดับการศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอุทกภัยที่ยังไม่สมบูรณ์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการเร่งตัวขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมต้น ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด และเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือในระดับต่ำและกระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่ต้องใช้ทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน สามารถแทนที่ได้ด้วยแรงงานต่างด้าวหรือเครื่องมือเครื่องจักรที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและราคาไม่สูงนัก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลสะท้อนการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อลดผลกระทบของต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยอาจปรับลดสัดส่วนการใช้แรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งสามารถทำได้ค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับกลุ่มแรงงานที่มีทักษะฝีมือในระดับที่สูงขึ้นไปเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต
จำนวนผู้ว่างงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีที่เพิ่มขึ้นมากทั้งที่มีประสบการณ์ทำงานและจบใหม่ อาจเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
• การเพิ่มขึ้นของแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี 2555 ซึ่งคาดว่า จะมีจำนวนประมาณ 2.8 แสนคน (เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 13.6 จากปีก่อน) หรือคิดเป็นร้อยละ 54.5 ของจำนวนแรงงานใหม่ทั้งหมดที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดในปี 2555 ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหางานทำทั้งจากปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างคุณสมบัติแรงงานที่จบใหม่และที่นายจ้างต้องการ ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากแนวคิดการปรับเงินเดือนลูกจ้างปริญญาตรี ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อบังคับให้ภาคธุรกิจต้องปฎิบัติตาม แต่ก็คงมีผลต่อการตัดสินใจของภาคธุรกิจในการจัดจ้างลูกจ้างระดับปริญญาตรีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากมีผลเชื่อมโยงไปสู่ต้นทุนการประกอบการและอัตรากำไรของภาคธุรกิจโดยตรง และอาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนตัดสินใจเลี่ยงไปจ้างงานแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าทดแทน
• นอกจากนี้ แรงงานระดับปริญญาตรียังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการปรับตัวของผู้ประกอบการต่อต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้แรงงานจำนวนเท่าเดิมและเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมในการทำธุรกิจ รวมทั้งเลือกใช้แรงงานทั้งในระดับปริญญาตรีด้วยกันหรือต่ำกว่าที่มีประสบการณ์ทำงาน เนื่องจากสามารถคาดหวังถึงผลิตภาพการผลิตที่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าแรงงานจบใหม่ไร้ประสบการณ์
? จำนวนผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
ความต้องการแรงงานนอกภาคเกษตรที่ลดลงถูกตอกย้ำให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นจากสถิติจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแม้ว่าจำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับผลประโยชน์กรณีว่างงานสะสม จะลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน ที่จำนวน 130.7 พันคนในเดือนเมษายน มาที่ 120.3 พันคนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าในเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีผู้ขอรับผลประโยชน์กรณีว่างงานจำนวน 107.5 พันคน โดยเมื่อพิจารณาสาเหตุการออกจากงาน พบว่า แรงงานที่ลาออกเนื่องจากรายได้ลดลงจากการที่นายจ้างลดชั่วโมงทำงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมีจำนวนลดลงจากเดือนก่อน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มตลาดแรงงานอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดัน: ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ในช่วงที่ผ่านมา มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบตลาดแรงงานและบรรยากาศการจ้างงานในประเทศ ทั้งสภาวะธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับโครงสร้างของตลาดแรงงานไทย ความเสียหายจากวิกฤตอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของวิกฤตหนี้ยุโรป รวมถึงการปรับใช้อัตราค่าแรงใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจยังคงส่งผลต่อภาวะการจ้างงานของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับสู่ภาวะปกติ และภาคธุรกิจได้ผ่านช่วงการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วระยะหนึ่ง อีกทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีภาวะต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่รอทดสอบประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนของภาคธุรกิจ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ว่างงานในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.10 แสนคน (กรอบคาดการณ์ 2.96-3.25 แสนคน) จาก 2.54 แสนคนในปี 2554 ซึ่งย่อมจะทำให้อัตราการว่างงานขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.7-0.8) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2554
สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่บีบคั้นและแรงกดดันด้านต้นทุน เป็นเพียงความท้าทายประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานของไทยในปัจจุบัน แต่หากมองภาพต่อไปในระยะข้างหน้าที่ไกลขึ้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่รอทดสอบความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัวของตลาดแรงงานไทย อาทิ
? ประเด็นท้าทายระยะสั้นที่ต้องเร่งปรับตัว การปรับตัวของตลาดแรงงานต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน เท่ากันทั้งประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 และการปรับเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทในปี 2557
? ประเด็นท้าทายระยะกลางที่ต้องเตรียมรับมือ การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะทำให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้เสรีมากขึ้นในปี 2558 รวมทั้งกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่อาจมีผลต่อภาวะการจ้างงานในประเทศ
? ประเด็นท้าทายระยะยาวที่ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย การวางแผนเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพของแรงงานไทย การแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องคุณสมบัติของแรงงานที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างตลาดแรงงานไทยจากที่พึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือในสัดส่วนสูงให้มีสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานที่มีทักษะและเทคโนการผลิตสูงขึ้น
ดังนั้น คงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการพึ่งพาแรงงานไร้ทักษะและความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน เพื่อให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรมบรรเทาลง รวมทั้งลดจำนวนแรงงานล้นเกินในกลุ่มที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ไม่เช่นนั้น ปัญหาการว่างงานที่ห่างหายจากประเทศไทยไปนานกว่า 2 ปี อาจหวนกลับมาเป็นอุปสรรคของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้งก็เป็นได้
โดยสรุป ตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ทำให้ภาคธุรกิจและภาวะการจ้างงานในประเทศอยู่บนเส้นทางที่ไม่สดใส อาทิ การฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยที่ยังไม่สมบูรณ์ ทิศทางที่ซบเซาของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ยุโรป ภาวะขาลงในบางอุตสาหกรรมที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าผลกระทบบางส่วนจะส่งผ่านมาที่เครื่องชี้ตลาดแรงงานหลายตัวแล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลต่อเนื่องในช่วงเวลาครึ่งหลังของปี 2555 ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า จำนวนผู้ว่างงานในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.10 แสนคน ซึ่งย่อมจะมีผลหนุนให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงความท้าทายประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานไทยในปัจจุบันเท่านั้น เมื่อมองต่อไปข้างหน้า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่รอทดสอบความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัวของตลาดแรงงานไทย อาทิ การปรับตัวของตลาดแรงงานต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซาจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวต่อต้นทุนแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2556-2557 การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างตลาดแรงงานไทยจากที่พึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือในสัดส่วนสูงให้มีสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานที่มีทักษะและเทคโนการผลิตสูงขึ้นในยะยาว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อตลาดแรงงานไทยนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานของไทยบ้างในระยะสั้น แต่ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว โดยเฉพาะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่แรงงานเองก็ต้องพัฒนาตนเองในทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งอาจทำให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตในระดับต่ำและเน้นการพึ่งพาแรงงานไร้ทักษะได้ในอนาคต
ทั้งนี้ บทบาทของภาครัฐมีความสำคัญต่อการสร้าง พื้นฐานการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างถูกทิศทางและเป็นรูปธรรม โดยเริ่มต้นจากการวางรากฐานการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตบุคลากรในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างเพียงพอ ที่สำคัญรัฐบาลควรให้การสนับสนุนในการเร่งพัฒนาแรงงานที่มีทักษะความรู้ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่จำต้องยกระดับมูลค่าการเติบโตปีนี้ เพื่อหลีกหนีการแข่งขัน และภาคบริการในด้านต่างๆ ที่ไทยต้องการพัฒนาขึ้นมาเป็น Hub ในภูมิภาค
ข่าวเด่น