นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ร่วมในคณะทำงานบริหารจัดการน้ำกับรัฐบาล ในการแก้ปัญหาวิกฤติอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และ จากการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทำให้ตนเป็นห่วงว่ารัฐบาลกำลังจะเดินซ้ำรอยการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดอีก เพราะขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำเริ่มหลาก จากด้านเหนือกรุงเทพฯลงมาแล้วซึ่งควรให้น้ำด้านบนกรุงเทพฯได้ระบายออกสู่อ่าวไทยผ่านพื้นที่รับน้ำ หรือ ฟลัดเวย์ ด้านตะวันออก ใต้คลองหกวาสายล่างระหว่างคลอง 8-13 ต้องให้น้ำไหลไปชายทะเลในพื้นที่ความยาว 70 กิโลเมตรเพื่อไล่น้ำจากด้านบนตั้งแต่คลองระพีพัฒน์ระบายลงมาด้านล่าง ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้เมื่อปี 2538 อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีการกักน้ำไว้ที่คลองระพีพัฒน์ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว นอกจากนี้เครื่องสูบน้ำในฝั่งตะวันออกที่เดิมมี 52 เครื่อง และกรมชลประทานได้เพิ่มเป็น 67 เครื่องในปีนี้ แต่กลับไม่เร่งเปิดใช้งานเพื่อปล่อยน้ำลงมาด้านล่าง ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ปรากฏว่าเปิดเดินแค่ 8 เครื่อง หรือ แค่ร้อยละ 12 "ขณะนี้น้ำด้านบนเริ่มมีน้ำเหนือไหลลงมาแล้ว แต่ยังไม่เร่งระบายน้ำไปตามระบบ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเหมือนกับปีที่แล้วที่มีการกักน้ำไว้ที่คลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต และ คลองหกวาสายล่าง จนสุดท้ายท่วมทะลักเข้ามาในกรุงเทพฯ "รองผู้ว่ากทม.กล่าว และว่า ขอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ไปศึกษากระแสพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เมื่อปี 2538 และน้อมนำเอากระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยเดิมอีก โดยเฉพาะที่คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศว่า คลองพวกนี้ไม่สมควรรับน้ำจากอยุธยา คือ ไม่ใช่คลองที่จะใช้รับน้ำเหนือหรือใช้รับน้ำจากอยุธยา เพราะคลองเหล่านี้ใช้ในการระบายน้ำฝนที่ตกในพื้นที่
ข่าวเด่น