กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รายงานว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยล่าสุดถึงขณะนี้มี 14 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย บริเวณตลาดเทศบาลสุโขทัยธานี ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย สาเหตุเนื่องจากน้ำไหลทะลักออกจากพื้นพนังกั้นน้ำ และรอยแตกแยกบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มวลน้ำทะลักไหลเข้าสู่บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองสุโขทัยอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง มีน้ำท่วมสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร(ซม.)
ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำยมเพิ่มสูงขึ้น และอยู่ในระดับที่ใกล้วิกฤตแล้ว ,จ.ชัยนาท หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.วัดสิงห์ ต.วังหมัน หมู่ที่ 1,8 โดยเฉพาะบริเวณหมู่ที่ 1 บ้านหนองอีเช้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำลักษณะแอ่งกะทะ มีระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร ราษฎรที่พักอาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว ต้องอพยพไปอยู่บนถนนในหมู่บ้าน ส่วนราษฎรที่พักอาศัยในบ้านสองชั้นยังคงอาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง ปัจจุบันมีผู้อพยพจำนวน 18 ครอบครัว ไปพักอาศัยอยู่ในเต็นท์บริเวณคลองชลประทาน ซึ่งองค์บริการส่วนตำบลได้จัดเตรียมไว้ 5 เต็นท์
จ.อุตรดิตถ์ หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำป่าจากลำห้วยแม่พลู ลำห้วยปู่เจ้า และลำห้วยแม่พร่อง ไหลหลากเข้าน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน ในเบื้องต้นมีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรมีน้ำท่วมขังประมาณ 3,000 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำยังคงทรงตัว โดยใน อ.ลับแล 4 ตำบล 1 เขตเทศบาล 28 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.ฝายหลวง ต.ชัยจุมพล ต.ทุ่งยั้ง ต.ไผ่ล้อม และเขตเทศบาล ต.ศรีพนมมาศ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 40-50 ซม. ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,500 คน พื้นที่การเกษตรมีน้ำท่วมขังประมาณ 2,000 ไร่ และ อ.เมืองอุตรดิตถ์ 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลบ้านด่านนาคาม และตำบลน้ำริด ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 500 คน พื้นที่การเกษตรมีน้ำท่วมขังประมาณ 1,000 ไร่
จ.เชียงราย หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลาว ซึ่งไหลจากอำเภอเวียงป่าเป้า ไปอำเภอแม่สรวย พัดคอและเสาของสะพาน เชื่อมบ้านแม่ขะขาน-บ้านสาขันหอม ต.แม่ขะจาน อ.เวียงป่าเป้า ทรุดใช้การไม่ได้ สามารถสัญจรไปมาได้ 1 ช่องทาง และเอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณพื้นที่เขตเทศบาลตำบลป่างิ้ว และ อบต.แม่เจดีย์ ระดับน้ำสูงประมาณ 30 ซม. เนื่องจากการระบายน้ำไม่ทัน ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
จ.นครสวรรค์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ 2 ตำบล 22 หมู่บ้าน ท่วมบ้าน 110 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับผลกระทบ 451 คน พื้นที่การเกษตร 2,250 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ อ.ลาดยาว ต.ลาดยาว(หมู่ที่ 1-15) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 200 ครัวเรือน บ้านเรือนน้ำท่วม 40 หลังคาเรือน พื้นการเกษตร 2,250 ไร่ และท่วมถนน 2 สาย คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1072(ลาดยาว-หนองเบน) ช่วงที่ 1 ระยะทาง 1 กม.(ช่วง กม. 23-24+000) ระดับน้ำสูง 10 ซม. ช่วงที่ 2 ระยะทาง 1 กม.(ช่วง กม. 27-28+000) ระดับน้ำสูง 10 ซม. รถทุกชนิดสามารถผ่านได้ และ อ.แม่วงก์ ต.เขาชนกัน(หมู่ที่ 1,3,4,6,8,12,17) บ้านเรือนน้ำท่วม 70 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรอยู่ระหว่างสำรวจ และเส้นทางคมนาคมสาย 1072(ลาดยาว-เขาชนกัน) ช่วง กม. 16+300(หมู่ที่ 7 เชื่อมต่อ หมู่ที่ 1 ตำบลวังซ่าน) ไหล่ทาง 2 ฝั่งของสะพานทรุดข้างละ 30 ซม. ยาว 3 เมตร หมวดการทางแม่วงก์ติดตั้งป้ายเตือนและแจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าแก้ไข
จ.ลำปาง เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในพื้นที่ อ.เมืองปาน ต.แจ้ซ้อน น้ำป่าไหลหลาก(หมู่ที่ 2,4,5) ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 40-50 หลังคาเรือน ดินสไลด์(หมู่ที่ 10) บ้านปางต้นหนุน เป็นจุดๆ รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ พื้นที่ทางการเกษตรอยู่ระหว่างการสำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
จ.ลำพูน เกิดอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่ทา ต.ทาปลาดุก(หมู่ที่ 8) ทำให้เกิดดินสไลด์ เส้นทางรถไฟสายเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ระหว่างสถานีทาชมพู-สถานีขุนตาล กม.684 ได้รับความเสียหายกว้าง 10 เมตร ลึก 30 เมตร ยาว 70 เมตร ไม่สามารถเดินรถได้ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ระดมรถขุดไฮดรอริคจำนวน 12 คัน เข้าปรับแต่งคันดินรองรับรางรถไฟ และดำเนินการซ่อมแซมโดยเร่งด่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จและจะใช้เดินรถได้ในวันนี้ เวลา 12.00 น.
จ.สุพรรณบุรี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง 10 ตำบล ได้แก่ ต.หัวโพธิ์ ศรีสำราญ บางพลับ ต้นตาล บ้านกุ่ม บางเลน บางตะเคียน เนินพระปรางค์ ดอนมะนาว และ ต.สองพี่น้อง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 10,000 ครัวเรือน 25,000 คน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
จ.พิจิตร หลังฝนตกต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ อ.สากเหล็ก ต.สากเหล็ก(หมู่ที่ 2,5,6,12) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 65 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,000 ไร่ บ่อปลา 3 บ่อ ถนน 5 สาย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตร
จ.สระแก้ว หลังฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ 16 ตำบล 164 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,200 ครัวเรือน ถนนได้รับความเสียหาย 30 สาย ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ อ.วังน้ำเย็น 2 ตำบล ได้แก่ ต.ตาหลัง หมู่ที่(1-21) และ ต.วังน้ำเย็น(หมู่ที่ 1,2,4-6,9-11,15,18) ขณะนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตร, อ.วังสมบูรณ์ 3 ตำบล ได้แก่ ต.วังสมบูรณ์(หมู่ที่ 1-17) วังใหม่(หมู่ที่1-14) และ ต.วังทอง(หมู่ที่ 1-17) ขณะนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตร, อ.เมืองสระแก้ว 2 ตำบล ได้แก่ ต.สระขวัญ(หมู่ที่ 2,3,6,7) และ ต.สระแก้ว(หมู่ที่ 4,8-9,14,17) ระดับน้ำทรงตัว, อ.เขาฉกรรจ์ 3 ตำบล ได้แก่ ต.เขาฉกรรจ์(หมู่ที่ 2,6) และ ต.หนองหว้า(หมู่ที่ 1,2,6) ต.พระเพลิง(หมู่ที่ 1) ขณะนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตร และ อ.วัฒนานคร 7 ตำบล ได้แก่ ต.วัฒนานคร(หมู่ที่ 1-14) ผักขะ(หมู่ที่ 1-13) ท่าเกวียน(หมู่ที่ 1-14) ห้วยโจด(หมู่ที่ 1-7) หนองแวง(หมู่ที่ 1-7) โนนหมากเค็ง(หมู่ที่ 1-9) และ ต.หนองน้ำใส(หมู่ที่ 1-10) ขณะนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตร
จ.เพชรบูรณ์ หลังเกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ อ.หล่มสัก 4 ตำบล ได้แก่ ต.ฝายนาแซง(หมู่ที่ 3,4) น้ำเฮี้ย(หมู่ที่ 7,8) ตาลเดี่ยว(หมู่ที่ 11) และ ต.วัดป่า(หมู่ที่ 3) ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ 14 ตำบล 83 หมู่บ้าน 1,265 ครัวเรือน 4,641 คน ได้แก่ อ.พระนครศรีอยุธยา ต.คลองตะเคียน(หมู่ที่ 12,13) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 20 ครัวเรือน 65 คน, อ.เสนา 8 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านกระทุ่ม(หมู่ที่ 1-9) หัวเวียง(หมู่ที่ 1-12) บ้านโพธิ์(หมู่ที่ 1-12) บ้านแพน(หมู่ที่ 1-3) ลาดงา(หมู่ที่ 1-9) รางจรเข้(หมู่ที่ 5-7) สามกอ(หมู่ที่ 1) และ ต.บางนมโค (หมู่ที่ 4-5) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 350 ครัวเรือน 2,020 คน, อ.บางบาล 2 ตำบล ได้แก่ ต.ทางช้าง(หมู่ที่ 1-6) และ ต.วัดตะกู(หมู่ที่ 1-8) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 388 ครัวเรือน 1,043 คน, อ.ผักไห่ 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าดินแดง(หมู่ที่ 1-8) กุฎี(หมู่ที่ 12) บ้านใหญ่(หมู่ที่ 5,6) และ ต.ลาดชิด(หมู่ที่ 1-5) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 507 ครัวเรือน 1,513 คน
จ.อุทัยธานี ปริมาณน้ำจาก อ.สว่างอารมณ์ ได้ไหลลงมาท่วมพื้นที่ตอนล่างในเขตพื้นที่ อ.เมืองอุทัยธานี ต.หนองไผ่(หมู่ที่ 2,6) มีผู้เสียชีวิต 4 ราย (อ.หนองฉาง 2 ราย อ.ห้วยคต 1 ราย อ.ทัพทัน 1 ราย) และ จ.สระบุรี มีน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาใหญ่ลงสู่ถนนมิตรภาพ บริเวณ กม.21+300 -21+600 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย ขาเข้า กทม. ท่วมผิวจราจร 2 เลน รถวิ่งได้ 1 เลน แขวงการทางสระบุรีแจ้งว่า จากจุดที่น้ำไหลหลากจะลงปล่อยท่อระยะทาง 200 เมตร ซึ่งคาดว่าจะระบายได้หมดภายใน 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.55 จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง จำนวน 4 จังหวัด 45 อำเภอ 328 ตำบล 3,670 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 334,685 ครัวเรือน 939,087 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 1,691,775 ไร่ ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช พัทลุง และ จ.สุราษฎร์ธานี
ข่าวเด่น