นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) เปิดเผย(เมื่อ 11 ก.ย.)ว่า หลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เวนคืนพื้นที่บริเวณปีกซ้ายด้านหน้าอาคารมิวเซียมสยาม(กระทรวงพาณิชย์เก่า) จำนวน 212 ตารางวา เพื่อก่อสร้างทางขึ้น-ลง C ของสถานีสนามไชยของโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สพร.จึงร่วมกับกรมศิลปากร เปิดหน้าดินบริเวณดังกล่าวเพื่อขุดสำรวจทางโบราณคดีอย่างละเอียด
จากการขุดสำรวจพบว่า ใต้ดินบริเวณดังกล่าวมีโบราณสถานลักษณะเป็นผนังท้องพระโรง ซึ่งเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งพระราชวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช จึงวางแผนตัดยกผนังท้องพระโรงทั้งหมดขึ้นมาก่อนนำไปเก็บที่สำนักงานใหญ่ รฟม. เมื่อการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ จะนำกลับมาจัดแสดงภายในสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ณ จุดเดิม อีกทั้งจะนำหลักฐานสำคัญอื่นๆ ที่ขุดพบบริเวณใกล้เคียงก่อนหน้านี้มาจัดแสดงหมุนเวียนในสถานีเช่นกัน อาทิ เปลือกหอยมุก กระดูกโครงม้า เกือกม้า แปรงขนม้า ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบ"
นอกจากนี้ สพร.ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร และคณะทำงานควบคุม กำกับ และดูแลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมบริเวณทางเข้า-ออก C ซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคารมิวเซียมสยามให้เป็นแบบเปิดโล่ง ไร้หลังคา กลมกลืนกับทัศนียภาพโดยรอบ เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมา มองเห็นสถาปัตยกรรมอันงดงามของอาคารมิวเซียมได้อย่างชัดเจน พร้อมจัดทำลิฟท์โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย
สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กิโลเมตร มีกำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จประมาณปี 2559 - 2560 โดยสถานีสนามไชยเป็นชื่อที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการพิจารณาใช้ชื่อสถานีที่มีความสอดคล้องกัน
ข่าวเด่น