บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปภาวะตลาดเงินรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-21 ก.ย.) เงินบาทร่วงลงจากระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียที่เผชิญแรงขายทำกำไรตั้งแต่ในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่รับข่าวเชิงบวกของมาตรการ QE3 จากเฟดไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถลดช่วงติดลบบางส่วนลงในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากมติการปรับเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อีก 10 ล้านล้านเยน หนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะกลับไปถูกกดดันอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ จากสัญญาณการหดตัวในภาคการผลิตที่สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ในหลายประเทศแถบเอเชียและยุโรป
ในวันศุกร์ (21 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 30.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ก.ย.)
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.ย.) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 30.65-30.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องติดตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของกลุ่มผู้นำเข้าในช่วงใกล้สิ้นเดือน รวมถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนรัดเข็มขัดทางการคลังของกรีซ (ซึ่งจะมีผลต่อการอนุมัติการเบิกเงินช่วยเหลือของกรีซจาก Troika) และผลทดสอบภาวะวิกฤตของภาคธนาคารสเปน (28 ก.ย.) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI เขตชิคาโกเดือนก.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนส.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค. จีดีพีประจำไตรมาส 2/2555 (ทบทวนรอบสุดท้าย) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ข่าวเด่น