สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ผลลัพธ์ของความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองในอดีต และประเด็นสำคัญทางการเมือง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.9
ยังจำภาพของความเสียหายจากความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองในอดีตได้ โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.6 คิดว่าปัญหาขัดแย้งไม่มีวันจบสิ้นถ้าต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษโยนความผิดให้แก่กัน
เมื่อสอบถามถึงผลลัพธ์ที่สังคมไทยได้รับหลังความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.1 ระบุประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน รองลงมาคือ ร้อยละ 91.7 ระบุชาวบ้านยังเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และอีกร้อยละ 90.5 ระบุไม่มีนโยบายสาธารณะอะไรใหม่ๆ ออกมาเพื่อความสุขคนไทยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ จากการสอบถามประชาชนถึงความมั่นใจว่าจะเกิดหรือไม่เกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองเกิดขึ้นอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.2 ไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองขึ้นอีกในอนาคต เพราะ ต่างฝ่ายต่างมุ่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ยอมถอยกันคนละก้าว ยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 29.8 มั่นใจว่าจะไม่ขัดแย้งรุนแรงกันอีก เพราะทุกคนน่าจะเห็นความสูญเสีย อดีตเป็นบทเรียน ต่างฝ่ายต่างเจอกับความเจ็บปวด ได้ไม่เท่ากับความสูญเสีย
เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ภายหลังเหตุความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.8 ระบุชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 15.2 ระบุชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
สำหรับคุณธรรมที่อยากเห็นประชาชนทุกคนช่วยกันเพื่อความสุขประเทศไทยในสามอันดับแรก พบว่า อันดับหนึ่ง อยากเห็นการรู้จักให้อภัยต่อกัน อันดับสอง อยากเห็นความมีไมตรีจิต เมตตากรุณา แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และอันดับสามความกตัญญู รู้คุณประเทศชาติ
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงเรื่องงบประมาณดูงานต่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ต้องการ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 ต้องการให้มีการตรวจสอบจากทุกหน่วย เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. และกรรมาธิการคณะต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 19.1 ไม่ต้องการ
เมื่อถามถึงประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการป้องกันแก้ปัญหาน้ำท่วมพบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 95.2 อยากให้รัฐบาลติดประกาศการใช้จ่ายงบภัยพิบัติให้สาธารณชนได้ทราบรายละเอียดครบถ้วน รองลงมาคือร้อยละ 91.5 อยากเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่า กทม. และภาคประชาชน อันดับสามร้อยละ 87.3 ระบุการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว อันดับสี่ร้อยละ 80.2 อยากเห็นการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่วิกฤติน้ำท่วมเพื่อดูการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ และอันดับห้าร้อยละ 67.4 อยากดูเรียลลิตีโชว์หรือการถ่ายทอดสดการประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี ชุมพร พัทลุง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,141 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 - 22 กันยายน 2555
ข่าวเด่น