วันนี้ (2ต.ค.) ที่ประตูระบายน้ำแสนแสบ-มีนบุรี ตอนประชาร่วมใจ เขตมีนบุรี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.และคณะผู้บริหารกทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบการเปิดประตูระบายน้ำแสนแสบ-มีนบุรี ตอนประชาร่วมใจ ในการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออก
ผู้ว่ากทม. กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจประตูระบายน้ำว่า ได้เปิดประตูระบายน้ำดังกล่าวที่ระดับ 40 เซนติเมตร เท่ากับประตูระบายน้ำที่คลองสองและลาดกระบังซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เพื่อระบายน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกและมีนบุรี ออกไปยังคลองแสนแสบและอุโมงค์ระบายน้ำพระรามเก้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และบางส่วนจะผันออกไป จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนจะออกสู่อ่าวไทย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการพยากรณ์ฝนตกหนักในวันเสาร์-อาทิตย์นี้ กทม.จะหรี่บานประตูเพื่อรักษาระดับน้ำพร้อมทั้งพร่องน้ำในประตูระบายน้ำออก ตลอดจนประสานงานกรมชลประทานและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ผู้ว่ากทม. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตเตรียมกระสอบทรายให้เรียบร้อยพร้อมทั้งออก ว8 ให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต เข้ามาประชุมด่วนในวันพรุ่งนี้3ต.ค.) เวลา 09.30 น.เพื่อกำชับมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกในสัปดาห์หน้า รวมทั้งหามาตรการแก้ไขปัญหาชุมชนนอกคันกั้นน้ำอย่างครบวงจรในระยะยาว เพราะเรื่องดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะอันสั้น
"ในสัปดาห์หน้าอาจเกิดฝนตกหนักตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศไว้ว่าประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อน “เกมี” กทม. ก็จะพิจารณาเพิ่มระดับบานประตูให้สูงขึ้น และได้ประสานกรมชลประทานให้ช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลด้วย เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและจังหวัดปทุมธานี" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ผู้ว่ากทม. ตรวจประตูระบายน้ำแสนแสบ-มีนบุรีแล้ว จากนั้นได้เดินทางมายังหมู่บ้านมีนบุรี การ์เด้นท์ โฮม ซึ่งเป็น 1 ใน 13 จุดอ่อนน้ำท่วมขังและอยู่นอกคันกั้นน้ำของพื้นที่เขตมีนบุรี ซึ่งมีน้ำท่วมขังประมาณ 30-40 ซม. จากฝนตกหนักในช่วงบ่ายที่ผ่านมา
ผู้ว่ากทม. กล่าวว่า กทม.ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 5 เครื่อง โดยติดท้ายบริเวณหน้าหมู่บ้านจำนวน 2 เครื่อง เพื่อสูบน้ำออกคลองลำสะตือ ส่วนอีก 3 เครื่องติดตั้งข้างในหมู่บ้านเพื่อสูบน้ำออกคลองลำหิน โดยจะใช้เวลาระบายน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง อย่างก็ตาม วิธีแก้ปัญหาระยะยาวคือจะต้องยกระดับถนนให้สูงเท่ากับข้างนอก คือ ประมาณ 50 ซม.ทั้งนี้ ต้องให้ชาวบ้านเห็นชอบก่อน กทม.จึงจะมาดำเนินการได้
ข่าวเด่น